กรุงเทพฯ 8 ส.ค.-กรมการขนส่งทางบก เตรียมบังคับใช้กฎหมายกับรถป้ายแดงอย่างจริงจัง โดยตั้งวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี หากใช้รถป้ายแดงเกิน 60 วันจะถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และตั้งแต่ 1 มกราคมปีหน้าจะใช้ได้ไม่เกิน 30 วัน
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมฯ จะร่วมกับตำรวจบังคับใช้กฎหมาย โดยตั้งแต่ 1 ตุลาคมจนถึงสิ้นปี ผู้ที่ใช้รถป้ายแดงเกินกว่า 60 วัน จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 จะใช้รถป้ายแดงได้ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ให้ผู้ซื้อรถและเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ จากปัจจุบันมีรายได้จากการจดทะเบียนรถใหม่ประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท สำหรับผู้ซื้อรถ หากผู้จำหน่ายรถไม่จดทะเบียนให้แล้วเสร็จใน 30 วัน สามารถร้องทุกข์ได้ที่ 1584 หรือสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ
ด้าน พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า หลังวันที่ 1 ตุลาคม ตำรวจจะใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการ หากกระทำผิดครั้งแรก หรือเกิน 60 วันมาเล็กน้อย อาจปรับแค่ 1,000 บาท แต่หากจงใจถือครองนานหรือกระทำผิดซ้ำ เตรียมจับปรับเต็มที่คือ 10,000 บาทได้ทันที
สำหรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ป้ายแดง อย่างที่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้บอก คือ มีความเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก เพราะตามกฎหมายสำคัญคือ “รถที่ยังไม่จดทะเบียน จะไม่สามารถนำมาใช้ได้”
และตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 27 ระบุไว้ชัดเจนว่า รถที่ใช้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม หากจะขับเองหรือให้ผู้อื่นขับ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และขับได้เฉพาะช่วงพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เว้นแต่มีความจำเป็นและต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และกฎกระทรวง ส่วนการออกใบอนุญาตนายทะเบียนจะเป็นผู้ดำเนินการออก เครื่องหมายพิเศษ หรือสมุดคู่มือ โดยสามารถสับเปลี่ยนกันได้ ไม่เฉพาะคันรถ
หากละเอียดไปกว่านั้น มาตรา 28 ใน พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ระบุว่า การขับรถยนต์คันนั้นๆ ผู้ขับต้องบันทึกรายการหรือรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อรถ, หมายเลขตัวรถ, หมายเลขเครื่อง รวมถึงความประสงค์ในการขับรถ, วัน/เดือน/ปี และเวลาที่นำรถออกไปขับและกลับถึงที่ รวมถึงชื่อ-นามสกุลผู้ขับ
สำหรับมาตรการจับปรับจริงครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาชน เพราะ “ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ…..” ฉบับใหม่ อาจมีการประกาศใช้กลางปี 2561 โดยอยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการรวม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก กับ พ.ร.บ.รถยนต์ เข้าด้วยกัน และมีการยกเลิกรถป้ายแดง โดยมีบทบัญญัติไว้ชัดเจนคือ มาตรา 23 ผู้จำหน่ายรถต้องส่งมอบทะเบียนรถในวันส่งมอบรถให้ผู้ซื้อ.-สำนักข่าวไทย