กรมศิลปากร 8ส.ค.-การจัดสร้างพระหีบจันทน์ ในหลวง ร.9 เข้าสู่ขั้นตอนลงสีปิดทองคำเปลวบนลวดลายครุฑและจงกล คืบร้อยละ 90 ขณะที่งานประติมากรรมลงสีเทพ เทวดาเสร็จเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับสัตว์หิมพาน คืบหน้าร้อยละ 70
ที่ท้องพระโรง กรมศิลปากร จิตอาสากว่า 30 คนช่วยกันใช้พู่กันจุ่มสีน้ำมันแต้มลงบนลวดลายครุฑและจงกลที่ประดับบนพระหีบจันทน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนที่จะนำทองคำเปลวมาปิดลงบน ลวดลายอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ที่นำทองคำเปลว มา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยประดับพระหีบจันทน์
โดยนายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่เปิดเผยกับทีมข่าวสำนักข่าวไทย ว่า การสร้างสรรค์ลวดลาย บนพระหีบจันทน์มีทั้งสิ้น 26 แบบ ใช้ชิ้นส่วนไม้จันทน์หอมว่า 31,000 ชิ้น ซึ่งขณะนี้การจัดทำพระหีบจันทน์ มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 90 ยังเหลือในส่วน ฝาหีบ คาดเริ่มต้นทำในสัปดาห์นี้ ส่วนเหตุผลที่ใช้สีน้ำมันแทนรัก เนื่องจากการใช้รัก ตามภูมิปัญญาโบราณนั้น แห้งช้าและหากผู้ที่แพ้รักอาจจะเกิดการระคายเคืองได้
นอกจากนี้เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน เช่นเดียวกับพระโกศจันทน์ที่เข้าสู่ขั้นตอนการนำลายจงกล มาประดับบนฝา พร้อมทั้งลวดลายอื่นรวมทั้งสิ้น 42 แบบ 10,000 ชิ้น โดยช่างจะใช้ลวดเส้นเล็กค่อยๆ ผูกลวดลายฉลุไม้จันทน์เข้ากับพระโกศ เบื้องต้นคืบหน้าร้อยละ 45 ก่อนจะนำเทพพนมมาประกอบเข้ากับลวดลายจงกลบนพระโกศ ซึ่งอาจารย์สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพรและทีมงานเป็นผู้ดำเนินงานในส่วนการออกแบบจัดทำลวดลาย “เทพพนม” คาดนำมาประดับพระโกศจันทน์สิ้นเดือน ส.ค.นี้
ด้านงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ นายสุรัฐกิจ พีรพงศ์ศิลป์ ผอ.กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ เปิดเผยภาพรวมความคืบหน้ากว่าร้อยละ 70 โดยผลงานประติมากรรมที่ปั้นหล่อและเขียนสีแล้วเสร็จคือ ประติมากรรมมหาเทพ พระพรหม พระนารายณ์ ครุฑ สัตว์ประจำทิศ ช้าง ม้า โค สิงห์ นาคราวบันได เทพพนม และเทพชุมนุมรอบฐานพระเมรุมาศ โดยเทวดายืนและนั่ง รวม 40 องค์ ขณะนี้ลงสีเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการเพิ่มเติมรายละเอียด
ในส่วนของผ้าโพกด้านหลังศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่างเขียนลวดลาย นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับคติความเชื่อไตรภูมิถ่ายทอดลงบนผ้าโพกศีรษะ ผอ.กลุ่มจิตรกรรม ย้ำว่า แม้จะเป็นส่วนที่น้อยคนจะสังเกตเห็นในรายละเอียด แต่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของช่างจิตรกรรมไทยและความประณีตวิจิตรบรรจงในการประยุกต์ภูมิปัญญาด้านศิลปะไทยทุกแขนงมาใช้กับพระราชพิธีครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีสัตว์หิมพานต์ที่จะนำไปประดับในสระอโนดาตอีก 70 องค์ อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดสี ซึ่งงานทั้งหมดคาดจะแล้วเสร็จ ภายในเดือนสิงหาคมก่อนทยอยนำไปตั้งที่พระเมรุมาศตามลำดับ .-สำนักข่าวไทย