ทำเนียบฯ 8 ส.ค. – ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ สั่งคลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ไปยังบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแล
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อเตรียมจัดส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป โดยร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มีหลักการสำคัญ คือ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นับเป็นคณะกรรมการผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ และยังกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ
เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจนและโปร่งใส มีกระบวนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจชัดเจน โปร่งใส และมุ่งเน้นผู้มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญตรงกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เอื้อต่อการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ มีกลไกระบบการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและส่งเสริมความรับผิดชอบในการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์วิสาหกิจและนโยบายอย่างเป็นระบบ
ในร่างกฎหมายกำหนดให้จัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” เพื่อทำหน้าที่กำกับดูรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำงานเชิงรุกมุ่งการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไปสู่การบริหารจัดการที่ดี และกำหนดให้ คนร.พิจารณาสั่งการให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือทั้ง 11 แห่ง เพื่อโอนไปยัง “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” ยกเว้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากปัจจุบันกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 จึงไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ขณะที่บริษัท วิทยุการบิน สังกัดกระทรวงคมนาคมทำหน้าที่บริหารจัดการจราจรทางอากาศเป็นองค์กรไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรในการดำเนินงานขององค์กรรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งจึงได้รับการยกเว้น
และยังได้ให้อำนาจหน้าที่ คนร.เห็นชอบกรอบวงเงินลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท เพื่อให้ คนร.มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทแทนการพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท และสั่งการให้ ผอ.สคร.รักษาการเลขาธิการ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” จนกว่าจะมีการคัดเลือกผู้บริหาร เพื่อทำหน้าที่เจ้าของรัฐวิสาหกิจ โดยฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัท 11 แห่ง
สำหรับรัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) , บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรณีย์ไทย จำกัด , บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด , บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด รวมทั้งกำหนดหน้าที่ให้ สคร.ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นหน่วยงานธุรกิจของรัฐบาล.- สำนักข่าวไทย