ระยอง 3 ส.ค.- มีชัย เผย กรธ.ประชุมนอกสถานที่ถกหลักการกม.ลูก ป.ป.ช. -ส.ส.-ส.ว. 3 ฉบับสุดท้าย ชี้คดีพันธมิตร ป.ป.ช.ในฐานะโจทก์อุทธรณ์ได้ ตามรธน. ชี้ ขยายเวลาอุทธรณ์ยาก
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการประชุมนอกสถานที่ระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม ที่จังหวัดระยอง เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับสุดท้าย ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า กรธ.จะเริ่มพิจารณาร่างของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นร่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งมา
ประธาน กรธ. กล่าวว่า ทั้ง 3 ฉบับจะพิจารณาเพียงหลักการ ยังไม่ได้ข้อสรุปในการประชุมตลอด 4 วันนี้ ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะออกมาเป็นร่างกฎหมาย การประชุมนอกสถานที่จะดูเนื้อหาเป็นรายมาตรา เพื่อพิจารณาว่ามีส่วนใดที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐธรรมนูญก็จะปรับแก้ ที่ผ่านมาได้ฟังแนวคิดและข้อเสนอจากทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) แล้ว
ส่วนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีข้อบัญญัติใหม่หรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า มีเรื่องใหม่ เช่น ป.ป.ช.ต้องการจะทำเป็นศูนย์นานาชาติ ซึ่งยังไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย แต่กรธ.มุ่งหมายให้ ป.ป.ช.ทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เชื่อถือได้ รวมทั้งมีความกล้าหาญ และการตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย
นายมีชัย กล่าวถึง ป.ป.ช.จังหวัด ว่า ยังไม่ได้พิจารณา และไม่ทราบว่าจะมีไปทำไม แต่ ป.ป.ช.ก็อาจจะต้องการหน่วยที่รองรับการทำงานในต่างจังหวัด ทั้งนี้ ยังเห็นว่า ป.ป.ช.จะตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมด้วย คือ หน่วยงานว่าด้วยขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่กฎหมายกำลังจะออกมาใหม่ ส่วนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น จะต้องให้ได้ข้อสรุปว่า จะแบ่งกลุ่มสังคมอย่างไร เพื่อจะได้ยกร่างต่อไป
นายมีชัย ยังกล่าวถึงการอุทธรณ์คดี สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 ว่า ทั้งโจทก์และจำเลยสามารถอุทธรณ์คดีได้ตามสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยังไม่ประกาศใช้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลที่จะพิจารณา ส่วนจะสามารถขยายเวลาการอุทธรณ์คดีได้หรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศาลที่จะพิจารณา
ส่วนการอุทธรณ์คดีโจทก์หรือจำเลยต้องมาด้วยตนเองหรือไม่ เนื่องจากร่างกฎหมายลูกยังไม่ประกาศใช้ นายมีชัย กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมาอุทธรณ์คดีด้วยตนเอง ส่วนที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เคยให้ความเห็นว่า แม้ร่างกฎหมายลูกยังไม่ประกาศใช้ เนื่องจากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 32) พ.ศ.2559 มาตรา 198 ให้อุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลนั้น นายมีชัย กล่าวว่า น่าจะเป็นคดีในข่ายของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่กฎหมายวิธีพิจารณาของศาลฎีกายังไม่ได้ออกมาใช้ แต่ทำเสร็จแล้ว.-สำนักข่าวไทย