กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – เอกชนเตรียมพร้อมประมูลเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม 300 เมกะวัตต์ โรงงานน้ำตาลฟุ้งต้นทุนแข่งขันได้ ด้านทีพีไอพีพีเสนอให้นำขยะชุมชนที่ได้สัญญาพีพีเอไม่มีการลงทุนก่อสร้างจริง นำมารวมกับโควตาเปิดลงทุนใหม่ให้ผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 300 เมกะวัตต์
นายวรวิทย์ เลิศบุษราคาม รองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอโพลีนเพาเวอร์ หรือทีพีไอพีพี กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมที่จะสมัครโครงการรับซื้อไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน ทั้งโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm เป้าหมายรับซื้อ 300 เมกะวัตต์ และโครงการการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่ขณะนี้รอความชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทยตามหลักเกณฑ์กฏหมายรักษาความสะอาด อย่างไรก็ตาม โควตาของขยะชุมชนมีเหลือประมาณ 120 เมกะวัตต์ แต่หากไปสำรวจโครงการที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) พบว่ามีอีกประมาณกว่า 200 เมกะวัตต์ไม่มีการลงทุนจริงตามพีพีเอ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงน่าจะพิจารณายกเลิกพีพีเอเดิมแล้วนำส่วนนี้มาเปิดรับซื้อร่วมกันก็จะทำให้มีการลงทุนรวมถึงกว่า 300 เมกะวัตต์ เป็นผลดีทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมในการกำจัดขยะและสร้างรายได้แก่ชุมชน เพราะโครงการนี้องค์การบริหารจังหวัด(อบจ.) เป็นเจ้าของโครงการและเมื่อครบ 20 ปี ทางเอกชนก็จะโอนโครงการทั้งหมดให้ อบจ.
ทั้งนี้ ทีพีไอพีพีเตรียม 2 โครงการโรงไฟฟ้าในจังหวัดสระบุรี ที่ปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการ WASTE HEAT ที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงปูนซีเมนต์ มาเสนอขายในโครงการ SPP Hybrid Firm โรงละ 50 เมกะวัตต์ โดยจะเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่จะใช้ทั้งขยะและชีวมวลมาอัดเป็นแท่งเชื้อ ลงทุนโครงการละประมาณ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการนี้จากภาคกลางเพียง 20 เมกะวัตต์เท่านั้น
ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ทางทีพีไอพีพี เตรียม 2 โครงการ คือ พื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสงขลา โครงการละ 50 เมกะวัตต์ คาดจะลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล กล่าวว่า บริษัทเตรียมนำโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เสนอขายไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ซึ่งคาดว่าจะสามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตอยู่แล้วเพื่อใช้ในโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งคาดว่าจะเสนอขาย 2 โครงการ ในโรงงานน้ำตาลขอนแก่น อ.วังสะพุง จ.เลย เสนอขาย 20 -25 เมกะวัตต์และ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เสนอขาย 20-25 เมกะวัตต์ หากได้รับการคัดเลือกก็คาดว่าจะได้รายได้โรงละประมาณ 600-700 ล้านบาท
ทั้งนี้ กบง.กำหนดรับซื้อเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม 300 เมกะวัตต์ โดยซื้อในภาคกลาง 20 เมกะวัตต์ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 20 เมกะวัตต์ ภาคใต้ 100 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 20 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 65 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 เมกะวัตต์. – สำนักข่าวไทย