ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดียันไม่ได้ทำผิด ขอศาลยกฟ้อง

ศาลฎีกาฯ 1ส.ค.- “ยิ่งลักษณ์” วอนศาลพิพากษาตามข้อเท็จจริง  อย่าฟังการชี้นำของหัวหน้า คสช. เผยทนเจ็บปวดต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม  ยืนยันโครงการจำนำข้าวทำให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้น ย้ำไม่ได้ทำผิดขอศาลยกฟ้อง เตรียมฟังคำพิพากษา 25 ส.ค.นี้ 


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงปิดคดีด้วยวาจาในคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ. ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 และความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เวลาแถลงปิดคดีด้วยวาจาเป็นเวลา1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 6 ประเด็น คือ 1.ปฏิเสธละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามข้อกล่าวหาของป.ป.ช.  2.นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะ ที่ไม่ได้คำนึงถึงกำไรหรือขาดทุน  3. การบริหารจัดการ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบทั้งหมด  4. นำหลักฐานที่เป็นผลสำรวจของสภาพัฒน์ ธกส. และสถาบันการศึกษา มายืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวได้ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดีขึ้นจริง 5. ยืนยันว่าได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบทันทีเมื่อที่ป.ป.ช.และสตง.แจ้งข้อพิรุธมา และ 6. ยืนยันว่าการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี  เป็นการทำงานของระดับผู้ปฏิบัติการ  ซึ่งมีคณะกรรมการรับผิดชอบเฉพาะโดยตรงอยู่แล้ว 


น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คดีนี้มีข้อพิรุธมากมายตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เร่งรัดในการชี้มูลความผิดโดยใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วันเริ่มต้นกล่าวหาด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ชี้มูลความผิดหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งเพียง 1 วัน และในชั้นก่อนที่อัยการสูงสุดจะฟ้องคดี พบว่ามีรายงานข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดี แต่สุดท้ายอัยการสูงสุดกลับยื่นฟ้องคดีทั้งที่ไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐาน คณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด อีกทั้งอัยการสูงสุดยังแถลงว่าจะฟ้องคดี ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะลงมติถอดถอนตนก่อนเพียง 1 ชั่วโมง ที่สนช.จะลงมติถอดถอนจึงถือเป็นการชี้นำหรือไม่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังพบว่าในชั้นการฟ้องคดีและไต่สวนในศาล มีการฟ้องนอกสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่มีการสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายหลัง และความผิดของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าว  และการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขั้นตอนการรับจำนำและขั้นตอนการระบายข้าว ที่ไม่ปรากฏในรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งในชั้นการพิจารณาคดีอัยการสูงสุดในฐานะโจทก์ได้เพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่ และนำสำนวนพยานเอกสารอีกกว่า 60,000 แผ่น เรื่องการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มาอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานในคดีเดียวกัน

ซึ่งโครงการ ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไม่ใช่อำนาจที่เกี่ยวข้องโดยตรงของนายกรัฐมนตรี จึงถือเป็นการสร้างเรื่องและเพิ่มพยานหลักฐานใหม่โดยมิชอบในลักษณะเอาตัวของตนเอง ดำเนินคดีไว้ก่อน แล้วค่อยหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม  อีกทั้งรัฐบาลปัจจุบันยังใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองให้ตนชดใช้ค่าเสียหายถึง  3 หมื่น 5 พันล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 โดยมิชอบ และยังใช้ ม.44 สั่งให้กรมบังคับคดียึดและถอนเงินในบัญชี เป็นการชี้นำให้เข้าใจว่าตนเองได้กระทำความผิด 


น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นประโยชน์ และพิสูจน์ได้ว่า มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทุกระดับ เป็นการดำเนินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งมีผลผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตาม มาตรา 75 มาตรา176 และมาตรา 178 และดำเนินการตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนข้อกล่าวหาว่า ครม.กำหนดราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด และขายในราคาต่ำกว่าราคารับจำนำนั้น  ไม่ใช่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชน หากยังมีความยากจน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ก็มีนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย  

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวตามอำเภอใจ โดยที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการ กขช.และคณะอนุกรรมการเฉพาะงานแต่ละด้าน 13 คณะ เพื่อบูรณาการการทำงาน ร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการในการปฏิบัติ รวมถึงมีหน่วยงานหลักที่สำคัญที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวง กรม ซึ่งไม่เคยมีข้อท้วงติง หรือให้ยุติ หรือให้ระงับยับยั้งโครงการ อีกทั้งได้กำหนดแนวทางป้องกันการทุจริตและป้องกันความเสียหายตั้งแต่การประชุม กขช.ครั้งแรก 

“รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบร่วมกัน อย่าเข้าใจผิดว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มคนเดียว และใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ จึงต้องเรียนว่า แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงและส่วนราชการ ต้องปฏิบัติงานร่วมกันกับคณะกรรมการ กขช. ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามที่กฎหมายแต่ฝ่ายกำหนด ซึ่งตนไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่อาจกระทำการใดๆ ที่จะไปล้วงลูกสั่งการ หรือชี้นำในระดับปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใด แม้กระทั่งผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็คงเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้ จึงต้องการใช้อำนาจพิเศษ คือ มาตรา44 ในการสั่งการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ ” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การไม่ระงับยับยั้งโครงการ เพราะโครงการมีประโยชน์ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย และโครงการมีความคุ้มค่าไม่เป็นภาระต่องบประมาณที่เกินสมควรหรือเป็นปัญหาต่อหนี้สาธารณะไม่เสียวินัยการเงินการคลังของประเทศจนต้องระงับหรือยุติโครงการ ซึ่งคณะกรรมการ กขช. ได้รายงานตัวเลขฤดูกาลผลิต 2554/55 และ ฤดูกาลผลิต 2555 รวม 394,788 ล้านบาท  ซึ่งมากกว่าตัวเลข ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ อ้างว่าขาดทุนทางบัญชี 220,969 ล้านบาท ถึง 173,819 ล้านบาท สอดคล้องกับรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชาวนามีความจำเป็นจนถึงปี 2558 นอกจากนี้ยังพบว่า น.ส.สุภา ปิยะจิตติ พยานโจทก์ผู้ทำหน้าที่จัดทำรายงานปิดบัญชีฯ ยังยอมรับว่า ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตัวเงิน และ ผลประโยชน์ที่เป็นทางอ้อมไม่ใช่หน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีแต่เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ  

ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาล เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น ทั้ง2 หน่วยงาน ไม่มีภารกิจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้งการดำเนินนโยบายสาธารณะที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งป.ป.ช.และ สตง. ไม่ได้ศึกษาข้อมูล และยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าว และข้อมูลจาก TDRI โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องอีกทั้งยังเสนอให้นำนโยบายประกันราคาข้าวมาดำเนินการซึ่งการนำนโยบายของฝ่ายค้านมาดำเนินการเป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ 

อีกทั้งยังนำข้อเสนอของ ป.ป.ช.แจ้งต่อ ครม.และได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว และยังตั้งคณะกรรมการติดตามการรับจำนำข้าวและคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแล การรับจำนำข้าวระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พร้อมกำชับให้เข้มงวดป้องกันการลักลอบการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ และที่ประชุม ครม.ยังได้ปรับลดวงเงินรับจำนำข้าวเพื่อป้องกันความเสียหายในฤดูกาลผลิต 2556 /57 จากไม่จำกัดเป็นจำกัดวงเงินไม่เกินรายละ 500,000 บาท และ 350,000 บาท และลดราคารับจำนำจากตันละ 15,000 บาท เหลือ 13,000บาท ยึดกรอบเงินทุนหมุนเวียนไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าตนใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.

น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว เพราะการระบายข้าว เป็นงานในระดับปฏิบัติที่มีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน ยืนยันว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี และเมื่อมีการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการระบายข้าว  จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาในการปกปิดข้อมูล 

“นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่พาณิชย์นโยบายที่คิดกำไรขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้ ซึ่งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตนมีบทบาทในฐานะผู้กำกับนโยบายไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ หากมีการกระทำที่ผิดขั้นตอนใดย่อมเป็นความรับผิด ของบุคคลนั้นนั้น โดยไม่เคยมีบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกับปฏิบัติ  รวมถึงยังต้องรับผิดทางแพ่ง 35,000 ล้านบาท ตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ว่าไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ปฎิบัติหน้าที่โดยชอบตามขอบเขตแห่งอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่เคยปล่อยปละละเลยสิ่งใดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนและได้ปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่เคยสมยอมให้บุคคลใดทุจริต ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในช่วงท้ายของการแถลงปิดคดีด้วยวาจาพร้อมน้ำเสียงที่สั่นเครือและร่ำไห้ช่วงหนึ่ง ว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิต ที่ครั้งหนึ่ง ดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ ให้กับชาวนา แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ ที่พยายามบิดเบือน และกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันก็จะอดทนมุ่งมั่นต่อไป เพื่อหวังว่ารัฐบาลต่อไปในอนาคต จะสามารถนำนโยบายสาธารณะมาสู่ประชาชนพี่น้องเราจะได้ปลดหนี้สิน จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับเขาบ้าง

สุดท้ายนี้ ดิฉันเห็นว่าก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ ดิฉันใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณา พิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใด ๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร ซึ่งคำพูดนี้ เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่า มีการกระทำความผิดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ศาลที่เคารพ ยังไม่ได้ตัดสิน ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” ดิฉันจึงขอความเมตตาต่อศาล ได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการแถลงปิดคดีด้วยว่าจาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้แจ้งยกคำร้อง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบ-ไม่ชอบ กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ก็เป็นตามสิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 212 เป็นครั้งที่ 2   โดยชี้แจ้ง ว่า แม้หน้าที่การวินิจฉัยจะเป็นของศาลรัฐธรรมนูญแต่การพิจารณาส่งคำโต้แย้งเป็นหน้าที่หรืออำนาจของศาลยุติธรรม และไม่จำเป็นว่าทุกคำร้องศาลจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสมอไป  ดังนั้นการที่ศาลไม่ส่งคำโต้แย้งจึงไม่ถือว่าผิดระเบียบการ วิธีการพิจารณาของศาล จึงยกคำร้อง และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. .-สำนักข่าวไทย     

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลฯ เดือด ส่งท้ายปี

ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมนี้ ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ส่งท้ายปีนี้ การแข่งขันดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครต่างเร่งหาเสียงกันอย่างเต็มที่ โดยมีผู้สมัคร 4 คน ลงชิงชัย ไปติดตามบรรยากาศโค้งสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้คว้าชัย

ทอ.ส่ง F-16 ขึ้นบินป้องน่านฟ้า หลังมีอากาศยานไม่ทราบฝ่าย เหนือชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบิน เพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก

อุตุฯ เผยอีสาน-เหนือ อากาศหนาว กทม.อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย

กรมอุตุฯ เผยภาคอีสาน ภาคเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น

lightened Christmas tree in front of U.S. Capitol

รู้จัก “ชัตดาวน์” ของสหรัฐและผลกระทบ

วอชิงตัน 20 ธ.ค.- หน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต้องปิดทำการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า กัฟเวิร์นเมนต์ ชัตดาวน์ (government shutdown) หลังผ่านพ้นเที่ยงคืนวันนี้ (20 ธันวาคม) ตามเวลาสหรัฐ หากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ทันเวลา หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณฉบับใหม่เมื่อวานนี้ สาเหตุที่เสี่ยงชัตดาวน์ ปกติแล้วรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมด 438 แห่งก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แต่ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภามักทำไม่ได้ตามกำหนดเวลา และมักผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ต่อไปในระหว่างที่สมาชิกรัฐสภาหารือกันเพื่อผ่านร่างงบประมาณจริง ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุเมื่อเข้าสู่เช้าวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐ สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเตรียมร่างกฎหมายที่จะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2568 แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันลงมติไม่เห็นด้วย และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณที่เสนอใหม่ ดังนั้นหากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ก่อนที่ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุ ก็จะเกิดการชัตดาวน์ เพดานหนี้ที่ทรัมป์ต้องการให้แก้ นายทรัมป์ยังต้องการให้สมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาเรื่องการกำหนดเพดานหนี้ประเทศให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ก่อนที่เขาจะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้กำหนดเพดานหนี้สาธารณะที่อนุญาตให้รัฐบาลก่อหนี้ แต่เนื่องจากรัฐบาลมักใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สมาชิกรัฐสภาจึงต้องคอยแก้ปัญหานี้เป็นครั้งคราว รัฐสภาสหรัฐกำหนดเพดานหนี้สาธารณะครั้งแรกในปี 2482 โดยกำหนดไว้ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.55 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้ขยายเพดานหนี้แล้วทั้งหมด 103 […]

ข่าวแนะนำ

ฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ส่งสุขรับปีใหม่

ส่งความสุขรับปีใหม่ กับฟรีคอนเสิร์ต “มหานครคัลเลอร์ฟูลปาร์ตี้ 2025” ศิลปินลูกทุ่งเกือบ 100 ชีวิต ร่วมโชว์จัดเต็ม

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

เด้ง ตร.จราจร ปมคลิปรับเงินแลกไม่เขียนใบสั่ง

ผบก.ภ.จว.นนทบุรี สั่งย้าย “รอง สว.จร.สภ.รัตนาธิเบศร์” เซ่นคลิปรับเงินแลกไม่ออกใบสั่ง พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายใน 3 วัน ด้านเจ้าตัวอ้างไม่เห็นเงินที่วางบนโต๊ะในตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร