กทม.1 ส.ค.- กทม.จัดประชุมนานาชาติ CCIDA เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดร่วมกับเมืองใหญ่
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุม Countermeasures to Combat Infectious Diseases in Asia (CCIDA) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1–3 ส.ค.60 ณ โรงแรมคราวน์ พลาซ่า กรุงเทพฯ ลุมพินีพาร์ค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ โดยมีผู้แทนเมืองสมาชิกเครือข่าย CCIDA ได้แก่ กรุงโซล กรุงโตเกียว เมืองไทเป เมืองทอมสก์ และกรุงเทพมหานคร ร่วมการประชุม
การประชุม Countermeasures to Combat Infectious Diseases in Asia(CCIDA) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเมืองสำคัญในทวีปเอเชียริเริ่มโดยกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีเป้าหมาย เพื่อสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด วิธีป้องกันการแพร่ระบาด และการเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วย โดยมีเมืองสมาชิก 12 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ประเทศไทย) กรุงฮานอย (เวียดนาม) กรุงจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) กรุงกัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) กรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) กรุงนิวเดลี (อินเดีย) กรุงโซล (เกาหลีใต้) สิงคโปร์ (สิงคโปร์) กรุงโตเกียว (ญี่ปุ่น) เมืองไทเป (ไต้หวัน) เมืองทอมสก์ (รัสเซีย) และนครย่างกุ้ง (เมียนมาร์) ซึ่งเมืองสมาชิกเครือข่าย CCIDA จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เป้าหมายของเครือข่าย CCIDA สอดคล้องกับนโยบายของ กทม.ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ที่เป็นผลมาจากการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนที่เข้ามาดำเนินกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ ดังนั้น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลในการเฝ้าระวังโรคระบาดระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขของเมืองสำคัญในภูมิภาคเอเชียจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเมืองมักประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ประสบการณ์จากเมืองหนึ่งจึงเป็นประโยชน์อย่างมากกับเมืองอื่นๆ
นอกจากนี้สาระของการประชุม CCIDA ยังสอดคล้องกับการดำเนินงานของ กทม.ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายการป้องกันและแก้ปัญหาโรคเอดส์ โดย กทม.เป็น 1 ใน 26 เมืองจากทั่วโลก ที่ประกาศปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในโครงการเร่งรัดมุ่งสู่เป้าหมาย 90-90-90 (Fast Track City) ภายในปี พ.ศ.2573 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงยาต้านไวรัส และร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถกดเชื้อได้ยาวนาน
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนเมืองสมาชิกเครือข่าย CCIDA จะร่วมนำเสนอประสบการณ์ ผลงาน แนวทางรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อ เช่น ไข้เลือดออก วัณโรค เอชไอวี/เอดส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสเยี่ยมชมการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING (Service Workers in Group Foundation in Thailand) ที่ให้บริการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งผลจากการประชุมและการศึกษาดูงานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับเมืองสมาชิกต่อไป .-สำนักข่าวไทย