พิษณุโลก 31 ก.ค. – เกษตรกรในทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เริ่มเกี่ยวข้าวแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกำหนดที่ ก.เกษตรฯ วางแผนไว้ เพื่อจะได้ไม่ถูกน้ำเหนือหลากท่วมจนผลผลิตเสียหาย เรียกว่า “โครงการบางระกำโมเดล” ซึ่งผลสำเร็จนี้จะทำให้กรมชลประทาน ทำแผนส่งน้ำลักษณะนี้เป็นแผนประจำปีต่อไป
อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมเกี่ยวข้าวเป็นปฐมฤกษ์ในทุ่งบางระกำ ตามโครงการบางระกำโมเดล ซึ่งปีนี้กรมชลประทานส่งน้ำให้เกษตรกรปลูกข้าวเร็วขึ้น 1 เดือน คือ เริ่มปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน เพื่อเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำเหนือหลาก ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี
ทุ่งบางระกำ ประกอบด้วย อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม บางส่วนของ อ.วัดโบสถ์ และ อ.เมืองพิษณุโลก รวมถึง อ.กงไกรลาส จ.สุโขทัย รวม 265,000 ไร่ วางเป้าหมายให้ชาวนาเก็บเกี่ยวหมดภายในกลางเดือนนี้
แผนการปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปีทุ่งบางระกำ ช่วยไม่ให้ผลผลิตของเกษตรกรเสียหายจากน้ำท่วม และประหยัดเงินของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายค่าชดเชย
พื้นที่ทุ่งบางระกำจะเก็บน้ำได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานจะผันน้ำเข้าเมื่อน้ำเหนือที่ไหลหลากมีปริมาณมากเกินกว่าลำน้ำสายหลักจะรับได้
ทุ่งบางระกำ ยังมีบึง 3 บึง ซึ่งกรมชลประทานพัฒนาให้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่รับน้ำไว้ ได้แก่ บึงขี้แร้ง บึงระมาณ และบึงตะเคร็ง ซึ่งเมื่อทำช่องน้ำเข้า-ออกอย่างเป็นระบบ ช่วยให้ที่นาโดยรอบซึ่งถูกน้ำท่วมทุกปีปลอดภัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นลุ่มน้ำเดียวของต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ จึงให้กรมชลประทานวางแนวทางบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาให้ได้ จึงเกิดเป็นโครงการบางระกำโมเดล เพื่อช่วยเหลือทั้งเกษตรกรในทุ่งบางระกำ รวมถึงพื้นที่เกษตรและเศรษฐกิจ ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้. – สำนักข่าวไทย