ซ.อารีย์ 24 ก.ค.-เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นข้อเสนอให้แก้ไขร่างกฎหมาย EIA ฉบับใหม่ ชี้กระบวนการจัดทำไม่โปร่งใสและจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชนรุนแรงขึ้น ด้านกระทรวงทรัพย์ฯ รับข้อเสนอพร้อมทบทวนให้รอบด้าน ก่อนเข้าครม.
เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมตัวแทนเดินทางมาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นข้อเสนอภาคประชาชน ต่อการจัดทำร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ…ผ่านนางสุณี ปิยะพงศ์พันธ์ รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ
ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า จากการติดตามการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ พบหลายประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการของกฎหมายตั้งแต่การเปิดเผยข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นใช้เวลาน้อยเกินไปและไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเห็นว่ากระบวนการร่างกฎหมายสะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา77 ซึ่งหากมีการประกาศใช้ จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในการทำโครงการต่างๆเพิ่มมากขึ้นกว่าในรอบ10ปีที่ผ่านมา
โดยได้ยื่นข้อเสนอ 8 ข้อให้กระทรวงทรัพย์ฯ นำไปปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย
1.ตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ทุกโครงการที่จะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องแต่ตามมาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ… กลับกำหนดไว้สำหรับโครงการหรือกิจการเท่านั้นซึ่งถือเป็นการลดทอนสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แคบลงอยากเห็นได้ชัด
2.ขาดรายละเอียดในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นการเขียนอำนาจลอยไว้โดยไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ทั้งนี้ควรจะมีการออกกฏหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆและต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขเพื่อกำกับการใช้อำนาจของรัฐไว้เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิ์กระบวนการทางศาลตรวจสอบได้
3.ด้านระบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนเห็นว่าควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมของพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่
4.ต้องมีการกำหนดกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบถึงแวดล้อมและสุขภาพเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาทางเลือกอย่างรอบด้าน//5.ควรมีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นด้านพื้นที่ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขผลกระทบหรือการเยียวยา
6.ให้ตัดมาตรา53 วรรค4 ออกจากร่างพระราชบัญญัตินี้
เพราะเป็นการนำคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่9/2559 มาบัญญัติไว้เกี่ยวกับการเปิดช่องทางการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ ระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อนซึ่งเป็นการลดทอนไม่ให้ความสำคัญกับการปฎิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของอีไอเอตามหลักป้องกันไว้ก่อน
7.ต้องมีการแยกองค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง และสุดท้ายภาคประชาชนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ในมาตรา50 ในประเด็นที่กำหนดให้การขอต่อใบอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการที่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ แต่หากผลระยะเวลาดังกล่าวต้องมีการทบทวนความเหมาะสมก่อนนำไปใช้
ภายหลังการหารือกันนานกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที นางสุณี ปิยะพงศ์พันธ์ รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ กล่าวว่า พร้อมรับข้อเสนอทั้งหมด มาพิจารณา เพราะขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทุกฝ่าย ที่ส่งมาทุกช่องทาง และพร้อมจะทบทวนข้อเสนอของภาคประชาชนหากสามารถบรรจุในกฏกมายลูกได้ก็จะทำ เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาเกิดประโยชน์ที่แท้จริง และมีความสมบูรณ์ที่สุดก่อนเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลมาก และอาจไม่เสร็จทันภายใน240วัน แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องยืดเวลาออกไป เพราะดีกว่าออกกฎหมายมาแล้ว ใช้ไม่ได้จริง พร้อมย้ำ กระทรวงต้องทำให้ดีที่สุด เพราะใช้เวลาในการออกและปรับร่างกฎหมายนี้มากว่า25ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี2535 ).-สำนักข่าวไทย