นนทบุรี 23 ก.ค. – พาณิชย์เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนและมาตรฐานบุคลากรดูแลผู้สูงอายุ หลังพบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุโตไม่ทันความต้องการของตลาด คาดปี 63 ผู้สูงอายุในไทยทะลุ 14 ล้านคน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 3-4 ปีข้างหน้านี้ คาดว่าปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุประมาณ 14 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลกก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงดูดผู้สูงอายุจากกลุ่มประเทศดังกล่าวให้เดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศด้วย เนื่องจากไทยมีความพร้อมและได้เปรียบหลายด้าน นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ครบครัน ซึ่งจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนนี้ ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุปัจจุบัน คือ การดูแลผู้สูงอายุเป็นงานบริการที่ต้องใช้ความอดทน ความเข้าใจ ต้องมีความรู้ด้านการพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งสูตรระยะสั้น – ระยะยาว ที่จัดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ งานดูแลผู้สูงอายุมีลักษณะงานที่ซ้ำเดิม ดังนั้น เมื่อทำงานระยะหนึ่งก็ต้องการเปลี่ยนงาน จึงทำให้บุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุขาดแคลนอย่างต่อเนื่องไม่ทันตามความต้องการของตลาด ทำให้ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และอีกปัญหาสำคัญ คือ สถานบริการดูแลผู้สูงอายุบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน พบปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ เช่น ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุให้เพียงพอ หรือในกรณีผู้สูงอายุเสียชีวิต ณ สถานประกอบการควรต้องดำเนินการอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุที่จะให้คำตอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุระยะยาว จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยให้เน้นการพัฒนาศักยภาพให้มีคุณภาพ การเพิ่มพูนทักษะการดูแลผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐานมีความเป็นมืออาชีพ และการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 มีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย 800 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 169 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.12 และบุคคลธรรมดา 631 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.88.-สำนักข่าวไทย