ทำเนียบรัฐบาล 20 ก.ค.-วิษณุยันแก้พ.ร.ป.คดีอาญานักการเมืองเป็นเรื่องที่คิดกันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ย้ำเป็นไปตามหลักสากล เพื่อให้คดีนักโทษหลบหนีเดินหน้าต่อได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.ป.) วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .… ว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันแล้วว่าได้ตรวจสอบแล้วทั้งหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน แต่ตนยังไม่เห็นร่างพ.ร.บ.นี้อย่างละเอียด แต่เท่าที่ทราบสังคมถกเถียงกันมาก ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังได้หรือไม่
“หลักที่ยึดถือมาโดยตลอดเป็นเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าหลักกฎหมายอาญาจะไม่มีผลย้อนหลังหรือเพิ่มโทษ แต่กฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดี สามารถมีผลย้อนหลังได้ในบางกรณี อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลัง 2 ประเด็นคือ 1.คดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว 2.ไม่มีผลย้อนหลังเพื่อเพิ่มโทษหรือกำหนดความผิดเพิ่มอีก แต่คดีที่เริ่มกระบวนการไปแล้วซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ สามารถพิจารณาต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคเพื่อไทยยื่นมาขอให้นายกรัฐมนตรีส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะนำมาพิจารณาต่อไป” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีมีข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายนี้ที่สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้จำเลยได้ ไม่เป็นไปตามหลักสากล นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามหลักสากล เนื่องจากเป็นการพิจารณาลับหลังเฉพาะกรณีที่จำเลยหลบหนี จากเดิมที่ไม่สามารถพิจารณาลับหลังได้เลย เพราะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยได้ซักค้านพยานของอีกฝ่าย ต่อมาเมื่อเห็นว่ามีทนายความมาซักค้านแล้ว จำเลยจึงไม่จำเป็นต้องไปศาลก็ได้ ศาลจึงพิจารณาลับหลังได้ ซึ่งลับหลังในที่นี้คือให้โอกาสจำเลยเดินทางมาศาลหรือไม่มาก็ได้
“ภายหลังมาเจอประเภทจำเลยหนี ซึ่งหลักกฎหมายคือพิจารณาไม่ได้ และหลายประเทศจึงได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายในหลายฉบับ อาทิ วิธีพิจารณาคดีทุจริตที่กำหนดว่าถ้าหนี ต้องถูกออกหมายจับ แต่ถ้าจับไม่ได้ ก็สามารถพิจารณาลับหลังได้”นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าพรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวมุ่งไปที่ตัวนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่พรรคเพื่อไทยอาจเข้าใจอย่างนั้น ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีกรณีที่ขอประกันตัวแล้วหลบหนีเป็นจำนวนมาก ทำให้คดีหยุดชะงัก อีกทั้งยิ่งเป็นคดีที่มีผู้กระทำผิดหลายคน จะยิ่งทำให้ยุ่งยาก ที่ผ่านมามีบทเรียนจากหลายคดี จึงนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
“ในหลายประเทศได้แก้ไขกฎหมายนี้เช่นกัน ซึ่งกรณีของอดีตนายกฯ เป็นตัวอย่างหนึ่งว่ามีพฤติการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ได้คิดกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิด เพราะเมื่อครั้งที่ผมเป็นรองนายกฯครั้งแรก ในสมัยที่นายทักษิณเป็นนายกฯ ก็มีการเสนอเรื่องนี้” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
