รัฐสภา 20 ก.ค.- รมว.คมนาคม ชี้แจงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ต่อที่ประชุม สนช. ยืนยัน โครงการช่วยเชื่อมโยงไทย – จีน – อาเซียน ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคม คาด เปิดใช้ได้ในปี 2564 รับนำข้อสังเกตของ สนช.เสนอรัฐบาล
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (20 ก.ค.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ประเทศไทยลงทุนโครงการทั้งหมดในกรอบวงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยช่วงที่ 1 มีระยะทาง 253 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง มี 6 สถานี เริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ ถึงสถานีนครราชสีมา อัตราค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา 535 บาท เพิ่มขึ้น 15% ทุก 5 ปี รองรับผู้โดยสารได้ 600 ที่นั่งต่อขบวน ทำความเร็วได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้บริการในช่วงเวลา 06.00-22.00 น. หรือ 16 ชั่วโมงต่อวัน
“คาดว่า ปี 2564 จะสามารถเดินรถได้อย่างเป็นทางการในระยะแรกนี้ โดยในปีแรกของการเปิดให้บริการ คาดว่า จะมีผู้โดยสาร 5,310 คนต่อวัน หลังจากนั้นอีก 10 ปี จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 16,620 คนต่อวัน” นายอาคม กล่าว
นายอาคม ย้ำว่า โครงการดังกล่าวมีขึ้น เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน (AEC) ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้าการลงทุน และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการนี้เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มศักยภาพ การค้า การลงทุน ซึ่งถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาส่งผลต่อความเจริญของประเทศ ขณะเดียวกัน จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าตามแนวชายแดนของภูมิภาคด้วย
ขณะที่ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่สนับสนุนโครงการดังกล่าว เพราะจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าในระยะยาว นำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้ง การเริ่มพัฒนาการคมนาคมที่ภาคอีสานก่อน นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคอีสาน ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนในภาคอีสานให้เพิ่มขึ้น แต่เป็นห่วงในบางช่วงที่ต้องสร้างกำแพงกั้นทางรถไฟที่จะผ่านเขตชุมชน อาจทำให้เกิดปัญหาการจราจรได้ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลดำเนินโครงการอย่างรอบครอบ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมประเทศไทยจึงลงทุนเองทั้งหมด แทนที่จะเป็นการร่วมลงทุนในการดำเนินโครงการ
หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายของสมาชิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ยืนยันต่อที่ประชุมว่า จะนำความเห็นของสมาชิก สนช.ไปพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป . .- สำนักข่าวไทย
