กรมสรรพากร 18 ก.ค. – กรมสรรพากรกำชับสำนักงานบัญชีดูแลผู้ประกอบการจัดทำบัญชี ย้ำ 1 ก.ย.เอาผิดอาญาคนใช้ใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ คุก 1 ปี เดินหน้าเสนอเก็บภาษี E-Commerce
นายประสงค์ พูนเธนศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงเรื่อง “ความร่วมมือกับสำนักงานบัญชี เพื่อการแนะนำภาษีอากรคุณภาพของกรมสรรพากร” ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อส่งเสริมการใช้เงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนกับหลายประเทศ เพราะต่างประเทศแม้แต่ตลาดสด ตลาดนัด ร้านค้าริมทาง จะใช้บาร์โค้ท คิวอาร์โค้ท ชำระสินค้า กรมสรรพากรจึงส่งเสริมให้จัดทำบัญชีเดียว เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการยื่นขอกู้จากสถาบันการเงิน จึงเริ่มออกแนะนำและตรวจสอบภาษีอากรกับสำนักงานบัญชี อีกทั้งการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อไหลเข้ามาสู่ระบบบัญชี ดังนั้น การทำบัญชียุคใหม่จึงเปลี่ยนไป สำนักงานบัญชีจึงเป็นเพียงผู้แนะนำ กรมสรรพากรคอยติดตามดูแล
นายประสงค์ กล่าวว่า กรมสรรพากรเตรียมประกาศบังคับใช้กฎหมายคุมเข้มเอาผิดการใช้ใบกำกับภาษีปลอมอย่างเด็ดขาด เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2560 แม้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมเพียง 1 ใบ คดีอาญาจำคุก 7 ปี จึงต้องการให้ผู้ประกอบการใช้ใบกำกับภาษีถูกต้อง รวมทั้งไทยเป็นสมาชิกของ FATTF ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจเส้นทางการเงินทุจริตอายัดทรัพย์สิน หากกระทำผิดสำหรับคดีอาญารายใหญ่ต้องเสียภาษีตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป การขอคืนภาษีตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป มีการกระทำเป็นขบวนการ การกระทำผิดเหล่านี้เข้าข่ายต้องแจ้ง ปปง.พิจารณาอายัดทรัพย์
สำหรับความคืบหน้าการจัดเก็บภาษี E-Commerce เพื่อปรับตัวให้ทันกระแสโลก เนื่องจากร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าของสหรัฐปิดตัวจำนวนมาก เพราะชาวสหรัฐซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ การค้าขายออนไลน์ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น กรมสรรพากรจึงปรับตัวรองรับกระแสใหม่ เพราะมีผู้ประกอบการประมาณ 800,000 ราย ขณะนี้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อเสนอกฎหมายการจัดเก็บภาษี E-Commerce เพื่อรับทราบข้อมูลรายรับ รายจ่ายแท้จริง เบื้องต้นกำหนดเพดานร้อยละ 15 แต่การจัดเก็บจริงต้องออกกฎหมายลูกจัดเก็บจริงเพิ่ม เพื่อไม่ให้รับภาระสูงมากช่วงแรก คาดว่าสรุปหลักเกณฑ์ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเสนอกระทรวงคลังพิจารณา
สำหรับการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินออกแบบฟอร์มให้เลือกช่องทางการชำระเงิน ทั้งการการชำระหนี้และการชำระสินค้า เพราะคงไม่มีใครชำระหนี้ตลอดทั้งเดือนผ่านแบงก์ ดังนั้น จึงต้องการให้แบงก์หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร จึงต้องการให้ผู้ประกอบการปรับตัวระบบบัญชียุคใหม่ ยอมรับว่าร้านค้ายังกังวลว่ากรมสรรพากรจะล้วงข้อมูล แต่ความจริงต้องการให้ทุกคนบันทึกบัญชีตามความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ยอมรับปัญหาการติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรูดเงินให้ชาวบ้านซื้อสินค้าผ่านบัตรเดบิต มีร้านค้ายอมให้ติดตั้งเพียงร้อยละ 15 หรือประมาณ 90,000 เครื่อง จากร้านค้าทั้งหมดประมาณ 690,000 เครื่อง ขณะที่ร้านค้าอีกร้อยละ 85 ยังติดตั้งไม่ได้ตามเป้าหมาย
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ภาษีรวม 6 เดือนแรกยังต่ำกว่าเป้าหมาย 40,000 ล้านบาท โดยยอดภาษีเดือนมิถุนายนจัดเก็บเองเกินเป้าหมาย ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มฝากให้หน่วยงานอื่นจัดเก็บยังติดลบ 2,000 ล้านบาท .- สำนักข่าวไทย