กรุงเทพฯ 17กค.-ศธ. ตั้งทีมสกอ.-สอศ.สานฝันระบบราง ปูฐานผลิตกำลังคนต่อยอดไฮสปีดเทรน
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 มีมติเห็นชอบโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟไทย – จีน เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดตั้งแต่บัดนนี้และจะเสร็จสิ้นโครงการระยะแรกในปี 2564 โดยนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สนองนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบรางอย่างเป็นมาตรฐานและครบวงจร ดังนั้น ศธ. มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดตั้งคณะทำงานพิเศษทำหน้าที่ประสานงานบริษัทเอกชนที่จะมาดำเนินโครงการเพื่อเชื่อมโยงการถ่ายโอนความรู้ และวิธีการซ่อมบำรุงของระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ
พร้อมวางกรอบหลักสูตรการผลิตกำลังคนที่มีความสามารถด้านการเดินรถไฟระบบราง และการบริหารจัดการระบบราง รองรับตามกระบวนการทางวิชาการที่ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การศึกษาวิจัยพัฒนาสาขาอื่น ๆ เช่น งานบริการ การจำหน่ายตั๋ว เชื่อมต่อระบบ บริหารสถานี ระบบสาธารณูปโภค ไฟส่องสว่าง ระบบกระจายเสียง งานเซอร์วิสระบบราง บำรุงรักษาตัวรถ การพาณิชย์ การบริหารศูนย์การค้าและชุมชนในพื้นที่รอบสถานี ฯลฯ และใกล้เคียงต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่เมื่อเกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีในทุกระดับ
นายกมล รอดคล้าย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟดังกล่าว จะนำไปสู่โอกาสทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในส่วนการจัดการศึกษาของสถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ให้มีความสอดคล้องการผลิตกำลังคนตามพื้นที่รายทางระบบรางจังหวัดโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ในระยะแรก และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ในระยะต่อไป ถือเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษาและพัฒนาเมือง การค้า การลงทุนการท่องเที่ยว รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานในพื้นที่และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานอยู่อาศัยกับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า และเมื่องานก่อสร้างระบบรางเสร็จสิ้น คนไทยสามารถดูแลระบบโครงการได้เองหรือมีความสามารถในการพัฒนาระบบรางรถไฟได้ด้วยตัวเอง .-สำนักข่าวไทย