กรุงเทพฯ 4 ก.ค. – ลาซาด้าหนุนเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ เตรียมลงเสาเอกโครงการอี-คอมเมิร์ซปาร์คในพื้นที่อีอีซี ไตรมาส 4
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังหารือตัวแทนบริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) ในเครืออาลีบาบา ว่า ตามที่กรมสรรพากรเตรียมจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ นั้น ผู้ประกอบการขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่ ทั้งอาลีบาบาและลาซาด้าเห็นด้วยและพร้อมจะให้ข้อมูลการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ในหลายประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจอยู่แล้วมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การเก็บภาษีการค้าออนไลน์ในประเทศไทยให้กับกรมสรรพากร และเรื่องการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์จะไม่กระทบโครงการลงทุนในประเทศไทยของลาซาด้า ส่วนการจัดเก็บภาษีออนไลน์จะกระทบราคาสินค้าหรือไม่นั้น จะต้องรอความชัดเจนของเกณฑ์การจัดเก็บภาษีก่อน
นอกจากนี้ ลาซาด้ายังแจ้งว่าอาลีบาบาเข้าถือหุ้นในลาซาด้าถึงร้อยละ 80 ทำให้การทำธุรกิจและการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คล่องตัวขึ้น โดยลาซาด้าจะเลือกพื้นที่กว่า 300 ไร่ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอีอีซี ลงทุนโครงการอี-คอมเมิร์ซ ปาร์คในประเทศไทย โดยจะเป็นการลงทุนศูนย์โลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งลาซาด้ากำหนดให้ไทยเป็นหนึ่งในเสาหลักของธุรกิจในอาเซียน ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกพื้นที่และจะสรรหาผู้รับเหมาก่อสร้างภายในเร็ววันนี้ โดยจะทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างไตรมาส 3 และเริ่มลงเสาเอกไตรมาส 4 ปีนี้ การก่อสร้างระยะแรกเสร็จภายใน 18 เดือน สำหรับวงเงินก่อสร้างจะยืนยันช่วงต่อไป แต่การก่อสร้างครั้งนี้เร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ ส่วนการลงทุนระยะ 2 การวิจัยพัฒนา การสร้างศูนย์บ่มเพาะเอสเอ็มอี ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ DE ต้องการให้โครงการลงทุนของลาซาดาเชื่อมกับโครงการดิจิตอลปาร์คบนพื้นที่ 700 ไร่ อำเภอศรีราชาด้วย
นอกจากนี้ ลาซาด้ายังร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ใช้งานไปรษณีย์ไทยที่มีกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศเป็นจุดรับส่งและชำระเงินให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเครือข่ายของลาซาด้า โดยลาซาด้าจะช่วยปรับปรุงคุณภาพระบบคอมพิวเตอร์การจัดส่งและติดตามสินค้าแบบเรียลไทม์ให้กับไปรษณีย์ไทย
นายอุตตม กล่าวว่า เวลา 08.30 น.วันที่ 12 กรกฎาคมนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมหามาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยมีผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน เป็นต้น เพื่อหามาตรการและแนวทางช่วยเหลือในการยกระดับมาตรฐานเอสเอ็มอีไทยในยุค 4.0.-สำนักข่าวไทย