กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – ไทยแอร์เอเชียจับมือสถาบันการศึกษาเร่งผลิตช่างซ่อมอากาศยานไม่น้อยกว่า 100 คน ภายใน 3 ปี รองรับความต้องการของตลาดก่อนปัญหาขาดแคลนบุคลากรเข้าสู่ขั้นวิกฤติ สอดคล้องนโยบายพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานในภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (3 ก.ค.) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียพร้อมด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพและโรงเรียนการบินกรุงเทพ โดยบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์จำกัด หรือ BAC ร่วมลงนามจัดหลักสูตรการศึกษา เพื่อพัฒนาและผลิตช่างอากาศยาน ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นใช้ระยะเวลาการเรียน 1 ปี
นายบัญญัติ หรรษกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ความต้องการช่างซ่อมอากาศยานในธุรกิจการบินขณะนี้เพิ่มขึ้นทุกปี หากไม่สามารถเร่งผลิตบุคลากรได้ทัน ก็จะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในกลุ่มงานด้านนี้ ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางการซ่อมอากาศยานในภูมิภาค รวมทั้งในส่วนของสายการบินไทยแอร์เอเซียมีแผนที่จะเพิ่มฝูงบินอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัจจุบันมีแอร์บัสเอ 320 จำนวน 54 ลำและจะมีการรับมอบอีก 4 ลำในปีนี้
ส่วนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยแอร์เอเชียมีทั้งหมด 321 คน ตั้งเป้าหมายเพิ่มช่างอากาศยานอีกประมาณ 100 คนภายใน 3 ปี เพื่อให้ทันต่อการเติบโตของธุรกิจการบินในอนาคต
ขณะที่นายสาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียยังคงมีความต้องการบุคลากรด้านการบิน ทั้งการควบคุมจราจรทางอากาศ รวมถึงฝ่ายช่างอากาศยานภาคพื้นกว่า 40,000 อัตรา ซึ่งข้อมูลนี้ส่งสัญญาณให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งผลิตบุคลากรรองรับทั้งด้านปริมาณและคุณภาพเร่งด่วน
ส่วนการจัดทำหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยานที่ลงนามวันนี้ยืนยันว่ามุ่งเน้นถึงคุณภาพของบุคลากรที่จะต้องได้รับมาตรฐาน โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการรับรองเป็นศูนย์ฝึกอบรมช่างอากาศยานตามมาตรฐาน สำนักงานความปลอดภัยทางการบินแห่งยุโรป หรือ EASA และเปิดหลักสูตรฝึกอบรมช่างอากาศยานตามมาตรฐาน EASA Part 66 CAT 1.1 ตั้งแต่ปี 2559 ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าช่างซ่อมอากาศยานที่ผ่านการอบรมจะมีมาตรฐานสามารถปฏิบัติงานช่างซ่อมอากาศยานได้ทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย