ชลบุรี 2 ก.ค. – ไทยเตรียมจ่ายนำเข้า LNG แตะ 4 แสนล้านบาท หากไม่กระจายเชื้อเพลิง หรือเพิ่มการผลิตในประเทศ เตรียมปรับสูตรนำเข้าใหม่อิง Longterm ร้อยละ 70
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ กำลังพิจารณาปรับสูตรการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ใหม่ สะท้อนทิศทางของตลาดมากขึ้นและสร้างความสมดุลด้านความมั่นคงและราคา โดยจะสะท้อนมาต้นทุนค่าไฟฟ้าในที่สุด โดยการปรับเป็นการอิงสัญญาระยะยาว (LongTerm) ร้อยละ 70 ปรับนิยามใหม่เป็นสัญญามากกว่า 4 ปีขึ้นไป และที่เหลือร้อยละ 30 เป็นสัญญาไม่ใช่สัญญาระยะยาว (Non Long Term) ที่เป็นตลาดจร (spot ) หรืออื่นซึ่งเปลี่ยนแปลงจากข้อเงื่อนไขปัจจุบันที่ประกอบด้วยสัญญาระยะยาวอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 50 และตลาดจรอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 30 และสัญญาระยะกลาง 3-5ปี อยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 20
นายปรศักดิ์ งามสมภาค ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิศวกรรมการผลิตบนบก ยกตัวอย่างว่าช่วงปี 2563 ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 10 ล้านตันต่อปี หากใช้สูตรนำเข้า LNG ใหม่นี้สัญญาระยะยาวจะอยู่ที่ 7 ล้านตันต่อปี และสัญญา spot จะอยู่ที่ 3 ล้านตันต่อปี โดยตามสัญญาระยะยาวที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาจัดหา LNG ไว้แล้วประกอบด้วย การ์ต้า 2 ล้านตันต่อปี, บีพี (BP) 1 ล้านตันต่อปี, เชล (Shell) 1 ล้านตันต่อปี และปิโตรนาส (Petronas) 1.2-1.5 ล้านตันต่อปี รวมเป็น 5.2-5.5 ล้านตันต่อปี
ดังนั้น การจัดหา LNG ตามสัญญาระยะยาวที่เหลือจะเป็นสัดส่วนของผู้จัดหาและค่าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) ทั้งรายปัจจุบัน คือ ปตท. และรายใหม่ ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนเป็น Shipper กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) หากได้รับการอนุมัติแล้วก็สามารถนำเสนอแผนนำเข้าLNG ตามสัญญาระยะยาว เพื่อแข่งขันกันได้ หากผู้ค้าฯ รายใดสามารถเจรจาต่อรองราคานำเข้า LNG ได้ต่ำสุดจะได้สัดส่วนการนำเข้าที่สัญญาระยะยาวที่เหลือไป ส่วนปริมาณนำเข้า LNG ที่เหลือตามสูตรใหม่ จะเป็นการนำเข้าแบบสัญญา spot
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2558-2579 (Gas Plan 2015) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประเมินว่าประเทศจะต้องนำเข้า LNGปลายแผนปี 2579 อยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมีมูลค่าสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินจากราคานำเข้า LNG เฉลี่ยปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยราคา LNG ยังมีความผันผวนตามต้นทุนในตลาดโลก ซึ่งอดีต LNG เคยปรับขึ้นไปสูงสุดถึง 14 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และราคา spot เคยลดต่ำสุดเหลือประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเท่านั้น ดังนั้น มูลค่านำเข้า LNG ในอนาคตจะผันแปรตามต้นทุนในตลาดโลกเป็นหลัก ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (ปี 2558-2579) คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (GAS) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (OIL) ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดว่าสิ้นปี 2560
ดังนั้น ในส่วนของแผนก๊าซฯ อาจปรับเปลี่ยนตามการปรับแผน PDP ใหม่ที่จะต้องพยากรณ์ถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ที่ปัจจุบันลดลงจากแผนเดิม เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความต้องการใช้ LNG ในอนาคตว่าจะลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้า LNG อยู่ที่ 2.9 ล้านตันต่อปี และปีนี้คาดว่าจะนำเข้า LNG อยู่ที่ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งครึ่งปีแรกนำเข้าLNG มาแล้ว 2.5 ล้านตัน
“การประเมินการนำเข้า LNG อยู่บนพื้นฐานโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา สร้างล่าช้า เกิดไม่ได้ต้องใช้ก๊าซเพิ่ม แต่หากกระจายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทั้งถ่านหินได้หรือเชื้อเพลิงใหม่มีบทบาทมากขึ้น ประหยัดพลังงานได้ตามแผนการนำเข้าแอลเอ็นจีก็อาจน้อยลงก็ได้” นายศุภลักษณ์ กล่าว. – สำนักข่าวไทย