กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – นักวิชาการ ม.รังสิต หนุนใช้ ม.44 ชะลอบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว หวั่นฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 3 โตต่ำกว่าร้อยละ 3
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการผ่าน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า มีแรงงานจำนวนมากกลับประเทศและส่วนหนึ่งคงจะไม่กลับมาทำงานประเทศไทย การกลับมาทำงานอาจมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับแรงงานบางส่วน ภาระนี้อาจเกิดขึ้นกับนายจ้างที่ต้องการแรงงานและไม่สามารถหาแรงงานมาทำงานจากตลาดแรงงานในไทยได้ คาดว่าผลกระทบน่าจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ชะลอตัวและขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 เกิดการชะงักงันในการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น แต่กฎหมายออกมาบังคับใช้โดยไม่ให้ระยะเวลาการปรับตัวและเตรียมการน้อยเกินไป ประกอบกับ มีแรงงานจำนวนมากเกือบ 1 ล้านคนที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมาย สะท้อนว่าไทยมีภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่างขั้นรุนแรง ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหา ส่วนสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานและการปิดกิจการชั่วคราวที่อาศัยแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายนั้น จะได้รับการบรรเทาลง หากมีการใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อน
ทั้งนี้ มีข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบ 6 ข้อ ได้แก่ 1.แนะใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน 2.ออกเป็น พ.ร.บ.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการและจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ พ.ศ. 2561 แทน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย 3.เนื้อหา พ.ร.บ.การปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ควรครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงประชาคมอาเซียน 4.ทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่มและอำนาจในการเจรจาต่อรอง รวมทั้งแรงงานต่างชาติในไทย 5.ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและโรงงานที่ใช้แรงงานทักษะต่ำที่ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวจำนวนมากนำเทคโนโลยี Automation และหุ่นยนต์มาทำงานแทน และ 6.รัฐและเอกชนต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับคนงานต่างด้าวและครอบครัวของแรงงาน เพื่อให้แรงงานรวมทั้งครอบครัวเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย .-สำนักข่าวไทย