กทม. 30 มิ.ย.-ดย.เตรียมยกร่างกฎหมายการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรหลังหย่าจากคดีแพ่งเป็นดีอาญา หากไม่จ่ายมีโทษจำคุก หลังพบพ่อเบี้ยวค่าเลี้ยงดูมากกว่าร้อยละ 50 ขณะที่แม่ไม่กล้าร้อง ขั้นตอนยุ่งยากต้องฟ้องศาลเอง
กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จัดเสวนารับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. …” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นเนื้อหาของกฎหมายการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร กรณีหย่าร้าง ที่กฎหมาย ต้องจ่าย และการกำหนดเงื่อนไขโทษในกรณีไม่จ่าย ปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น หลังคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาชนแห่งชาติ (กดยช.) ยกร่างแก้กฎหมายการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรจากกฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายอาญา
นายวันชัย รุจนวงศ์ อัยการอาวุโส หนึ่งในผู้ร่วมยกร่างกฎหมาย กล่าวว่า เมื่อพ่อแม่หย่าร้าง ก็จะทำสัญญาตกลงกันว่าหลังหย่าว่าใครจะทำหน้าที่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เพราะลูกอยู่กับผู้หญิง แต่พอถึงเวลากลับพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 คนที่มีหน้าที่จ่ายตามที่ได้ทำข้อตกลงกัน กลับละเลย เพิกเฉย ไม่จ่าย ปล่อยให้ลูกต้องอยู่อย่างยากลำบาก แม่ทำงานหนัก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเด็กตามมา ขณะที่เดิมกรณีนี้เป็นคดีแพ่ง การเรียกร้องต้องไปฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลาในการดำเนินการนาน และมีค่าใช้จ่าย จึงทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เรียกร้องเนื่องจากอับอาย และปล่อยผ่านไป ปนะกอบกับจากการศึกษากฎหมายในต่างประเทศแทบยุโรป พบส่วนใหญ่กำหนดเรื่องนี้เป็นคดีอาญา ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เเละให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด จึงได้มีความเห็นชอบยกร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้การไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นความผิดทางอาญา ที่ฝ่ายหญิงสามารถเเจ้งความต่อตำรวจได้เลย จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นตัวกลางดำเนินการติดต่อฝ่ายชาย และเรียกร้องสิทธิให้. ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ นอกจากระบุว่า ผู้ที่มีหน้าที่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรตามที่กฎหมายกำหนด หรือที่ระบุในสัญญาหย่า ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูแล้ว หากไม่จ่าย ที่มีโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากการไม่จ่ายส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ได้เฉพาะคู่สามมีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และมีการหย่า มีสัญญาระบุ การกำหนดผู้มีหน้าที่จ่ายค่าเลี้ยงดูเท่านั้น และเรียกร้องได้เฉพาะกรณีค่าเลี้ยงดูบุตรตามจำนวนที่ตกลงกันในวันหย่า เรียกค่าเลี้ยงดูเพิ่มไม่ได้.-สำนักข่าวไทย