รัฐสภา 28 มิ.ย.-นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เข้าใจและเห็นใจนักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยแต่กังวลว่า จะปฏิบัติยาก ในเรื่องร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติเพราะยังติดกรอบความคิดและการบริหารแบบเดิม ๆ แต่ถ้าไม่ปฏิรูปการบริหารจัดการประเทศด้วยแนวทางใหม่ โดยไม่เปลี่ยนแปลงจะปฏิรูปเดินหน้ายกระดับอัพเกรดประเทศสู่ไทยแลนด์4.0 ได้อย่างไร วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงต้องบริหารประเทศอย่างมีทิศทางและเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จะพัฒนาประเทศแบบไร้ทิศทางไม่ได้
รองประธาน สปท. กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยมียุทธศาสตร์การพัฒนาระยะสั้นคือมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี มีนโยบายของรัฐบาล 4 ปีเท่านั้นยังไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาประเทศระยะยาวจึงทำให้การพัฒนาประเทศต่ำกว่าศักยภาพ และเวลาเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย ทำให้การพัฒนาประเทศขาดความต่อเนื่องโดยเฉพาะการพัฒนาที่ต้องใช้เวลา เช่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และ การศึกษาเป็นต้น ด้วยจุดอ่อนดังกล่าว สปช. สปท.และรัฐบาลจึงได้เริ่มวางแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ20 ปีตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและจัดทำพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านวาระ 3 ของสนช.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมาถือเป็นการวางรากฐานให้กับอนาคตของประเทศที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ก็มียุทธศาสตร์ชาติ10 ปีถึง 30 ปี เช่นมาเลเซียมียุทธศาสตร์ 30 ปีวางเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2533ผ่านมา 27 ปีส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรสูงกว่าไทยเกินเท่าตัวและจะบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงในอีก3ปีข้างหน้าขณะที่ประเทศไทยยังติดกับประเทศรายได้ปานกลางมา20ปีจึงอยากให้พรรคการเมืองของไทยดูตัวอย่างจากมาเลเซีย ส่วนข้อกังวลเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติบัญญัติให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่ายุทธศาสตร์ชาติจะมัดมือรัฐบาลจนบริหารหรือกำหนดนโยบายไม่ได้นั้น นายอลงกรณ์กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิดเพราะยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศระยะยาว ตัวอย่างที่เคยกำหนดในร่างกรอบยุทธศาสตร์ช่วงจัดทำเมื่อปีที่แล้วเช่นกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน20ปีมีรายได้ต่อหัวของประชากร450,000บาทต่อปีหรือเพิ่มขึ้น3เท่าจากปัจจุบันจึงต้องปฏิรูปยกเครื่องทุกมิติหรือต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่าร้อยละ40ของพื้นที่ประเทศและให้มีพื้นที่ชลประทานไม่น้อยกว่าร้อยละ75ของพื้นที่เกษตร150ล้านไร่จากปัจจุบันมีเพียงร้อยละ30 เป็นต้น รัฐบาลแต่ละชุดมีอิสระที่จะกำหนดนโยบายโครงการและจัดสรรงบประมาณเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมายภายใน20ปีหรือเร็วกว่านั้น ยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่การมัดมือมัดเท้ารัฐบาลจนทำอะไรไม่ได้อย่างที่กังวลตรงข้ามจะทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างมีทิศทางเหมือนรถวิ่งบนทางหลวงมีจุดหมายปลายทางแน่นอนเวลาเปลี่ยนคนขับคือเปลี่ยนรัฐบาลนับเป็นจุดอ่อนของการพัฒนาประเทศในอดีต ถ้าจะให้ประเทศแข่งขันได้ต้องมียุทธศาสตร์ชาติที่มีกฎหมายรองรับ
นายอลงกรณ์ยังกล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ชาติ20ปีถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นทบทวนทุก5ปีและกรณีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญก็สามารถปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ทันทีโดยรัฐบาลเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบซึ่งในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องวิเคราะห์และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกด้านในระยะ5ปี10ปีถึง20ปีเช่นเทคโนโลยี ภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัย พลังงาน การเมือง การค้าการลงทุน กติการะหว่างประเทศ ภัยก่อการร้าย เป็นต้นแล้วสร้างแบบจำลองสถานการณ์จากนั้นจึงกำหนดเป้าหมายและแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเมื่อพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ประกาศใช้ภายในไม่เกินต้นเดือนสิงหาคมกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศก็จะเริ่มต้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน.-สำนักข่าวไทย