ไบเทค 26 มิ.ย. – จับตากลุ่มกัลฟ์ยื่นจดทะเบียนทั้งเป็นผู้ค้าปลีกก๊าซธรรมชาติและ Shipper รองรับการเปิดให้แข่งขันนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรก 1.5 ล้านตัน/ปี 28-31 ส.ค.นี้ โดย กฟผ.ยื่นเสนอแข่งขันด้วย ส่วนพลังงานทดแทนปีนี้ยังเหลือยื่นผลิตไฟฟ้าอีก 707 เมกะวัตต์ เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 28-31 สิงหาคมนี้ กกพ. จะเปิดให้ผู้ได้ใบอนุญาตจัดหาและค่าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ยื่นเสนอนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน ในส่วนคลังของ บมจ.ปตท. ระยะที่ 1 ส่วนขยาย จากเดิมที่มี 10 ล้านตัน /ปี ขยายเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี โดยส่วนนี้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่ 3 (Third Party Access Regime: TPA Regime) โดยปัจจุบันมีเพียง ปตท.รายเดียวเป็น Shipper และขณะนี้กลุ่มกัลฟ์และทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาหารือกับ กกพ. เพื่อขอใบอนุญาตเป็น Shipper ซึ่งข้อกำหนดของ กกพ. คือ ต้องมีลูกค้าผู้ใช้ก๊าซฯ ที่ชัดเจน ขณะที่กลุ่มกัลฟ์และพันธมิตรได้ยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ค้าปลีกก๊าซฯ ในนิคมฯ เหมราช โดยเจรจาซื้อก๊าซฯ จาก ปตท.เพื่อไปบริการลูกค้าที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมฯ
“ยังไม่ชัดเจนว่า OPEN SEASON เปิดแข่งขันนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน จะมีผู้เสนอนำเข้าสัดส่วนรายละเท่าใด โดย ปตท.สามารถยื่นเสนอแข่งขันได้เช่นกัน โดย กกพ.จะดูข้อเสนอที่ชัดเจน โดยในส่วนของกัลฟ์นั้นจับมือกับกลุ่มพันธมิตร คือ มิตซุยในการที่จะนำเข้าแอลเอ็นจี ขณะที่ กฟผ.มีแผนใช้ก๊าซสำหรับโรงไฟฟ้าของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ก๊าซฯ เหล่านี้จะไม่เกี่ยวกับสัญญาเดิมที่ ปตท.ตกลงไว้กับลูกค้าเดิม”นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล ยังกล่าวด้วยว่า จากที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว และต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้การใช้ก๊าซลดลงจากแผน 200-300 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน ซึ่งในส่วนนี้ต้องนำไปประเมินว่าความต้องการก๊าซฯ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้กฎหมายปิโตรเลียมและกฏหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมีผลบังคับใช้แล้ว และกระทรวงพลังงานจะเปิดให้ยื่นประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช เดือนสิงหาคมนี้ ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้วิกฤติการณ์ขาดแคลนก๊าซฯ ปี 2564-2566 ต่ำกว่าประเมินไว้ก่อนหน้านี้ก็ได้ โดยขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังดูภาพรวมทั้งหมด
ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามแผนที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบไว้แล้ว นายวีระพล กล่าวว่า จะทยอยประกาศภายในปีนี้ให้หมดอีก 707 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนรวมกว่า 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การเปิดรับซื้อโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส)ในส่วนที่เหลืออยู่ 8 เมกะวัตต์ เปิดให้ยื่นวันที่ 29-30 มิถุนายนนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (ไฮบริด) แบบสัญญาเสถียร (เฟิร์ม) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) หรือเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม 300 เมกะวัตต์ คาดจะเปิดให้ยื่นเดือนกรกฎาคม ,โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ไฮบริดแบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเสถียรชั่วคราว (เซมิ-เฟิร์ม) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (วีเอสพีพี) 269 เมกะวัตต์ คาดจะเปิดยื่นข้อเสนอเดือนตุลาคมนี้ ที่เหลือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากขยะ 130 เมกะวัตต์ ที่เบื้องต้นเป็นวีเอสพีพี ชุมชน 78 เมกะวัตต์ ที่เหลืออีก 52 เมกะวัตต์ อาจจะเป็นเอสพีพี เพราะหลายพื้นที่มีศักยภาพผลิตได้มากกว่า 10 เมกะวัตต์ เช่น จังหวัดนนทบุรี และพื้นที่ กทม. เป็นต้น โดยในส่วนของขยะชุมชนรอความชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทยในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2560.-สำนักข่าวไทย