ไบเทค 26 ก.พ. – กองเชียร์นับพันลุ้นจับสลากโซลาร์ฟาร์มราชการ- สหกรณ์การเกษตรรอบ 2 กำลังผลิตรวม 219 MW ต่ำกว่าเสนอ 14 เท่าตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการจับสลากเป็นไปอย่างคึกคักมีผู้เข้ามารอฟังผลกว่า 1,000 คน โดยส่วนใหญ่แต่ละสหกรณ์จะเหมารถตู้มาจากต่างจังหวัดวานนี้ ทำให้โรงแรมรอบศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคถูกเหมาจองเต็ม โดยจำนวนผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมการจับสลาก 636 ราย ปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมทุกพื้นที่รวม 3,104.34 MW อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาปิดลงทะเบียนปรากฎว่าสหกรณ์ไม่มา 3 ราย ทำให้เหลือผู้จับสลากฯ 633 ราย แยกเป็น 607 สหกรณ์ ซึ่งมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 119 MW รายละไม่เกิน 5 MW และ 26 หน่วยราชการ ปริมาณรับซื้อ 100 MW รายละไม่เกิน 5 MW
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. แถลงความพร้อมว่าวันนี้ (26 มิ.ย.) กกพ.ได้จัดให้มีพิธีการจับสลากเพื่อคัดเลือกเจ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือ “โซลาร์ฟาร์ม” รอบ 2เพื่อให้การดำเนินการเกิดความโปร่งใสทุกขั้นตอน นอกจากจะกำหนดให้การจับสลากเป็นไปอย่างเปิดเผยต่อหน้าผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว กกพ.ยังกำหนดให้ทุกกระบวนการจะต้องกระทำต่อหน้ากรรมการสักขีพยาน โดยมาจากหน่วยงานภายนอกที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่น ผู้แทนสื่อมวลชน ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
“คาดว่าจะสามารถประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการวันนี้ ทั้งผลจับสลากอันดับของหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรที่ยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการแต่ละเป้าหมายการจัดหาตามพื้นที่ที่ได้ลงประกาศไว้ และการประมวลผลการจัดอันดับของผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการหาผู้ร่วมลงทุนโครงการของหน่วยงานราชการ หรือผู้สนับสนุนโครงการของสหกรณ์ภาคการเกษตร เพื่อมายื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป” นายวีระพล กล่าว
โฆษก กกพ. กล่าวย้ำว่า ลำดับของสลากที่ได้วันนี้ กกพ.จะนำไปประมวลผล โดยพิจารณาจากเงื่อนไขศักยภาพของระบบไฟฟ้าตามลำดับเป็นสำคัญ ได้แก่ 1.ไม่เกินศักยภาพของ Feeder 2.ไม่เกินศักยภาพของหม้อแปลง และ 3.ไม่เกินศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้า โดย กกพ.จะประกาศผลอย่างเป็นทางการวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ซึ่งจะปิดประกาศที่สำนักงาน กกพ. และทางเว็บไซต์ www.erc.or.th หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ร่วมลงทุนโครงการและผู้สนับสนุนโครงการ ในความพร้อมการดำเนินโครงการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการ ความพร้อมทางการเงินที่ใช้เป็นทุนดำเนินโครงการ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2561.-สำนักข่าวไทย