จุฬาฯ 1 พ.ย. – ในงานสัมมนาและนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้า “ประเทศไทยกับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)” นายสรัญ รังคศิริ นายกสมาคมศิษย์เก่า วิศวกรรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท.กล่าวว่า รถอีวีเป็นเทรนด์รถยนต์ที่จะเป็นที่นิยมมากขึ้นใน 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งไทยต้องเตรียมพร้อมทั้งการผลิตรถยนต์เพื่อรองรับความต้องการและการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน โดยในส่วนของ ปตท. พร้อมสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับ โดยปีนี้จัดตั้งนำร่อง 6 แห่ง และเพิ่มเป็น 20 แห่งในปีหน้า
ส่วนราคาน้ำมันช่วงนี้ แม้ค่าการตลาดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่จากสถานการณ์ของประเทศ ปตท.ขอรับภาระชะลอการปรับขึ้นไปชั่วคราว เพื่อร่วมดูแลผู้บริโภค
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในการประชุมบีโอไอวานนี้ (31 ต.ค.) ทางนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าการส่งเสริมการลงทุนรถอีวีให้ดูแลทุกภาคส่วนให้มีความสมดุล โดยในส่วนของบีโอไอได้มีการศึกษาเบื้องต้นในการส่งเสริม โดยจะเสนอทั้งการสนับสนุนรถอีวีและปลั๊กอินไฮบริดจ์ ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขสำคัญ คือ จะต้องลงทุนเรื่องการประกอบชิ้นส่วนสำคัญ คือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า พร้อมทั้งส่วนควบคุมในประเทศไทย โดยการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีจะให้นำเข้าปริมาณจำกัดในช่วง 2 แรกเท่านั้น ส่วนรถโดยสารจะส่งเสริมเฉพาะรถที่ผลิตในประเทศ โดยต้องมีการลงทุนด้านแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการรถยนต์ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการส่งเสริมอีวี แต่เมื่อเทรนด์รถยนต์ไปสู่รถประเภทนี้ รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนรับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
“ในส่วนของรถโดยสารที่นายกรัฐมนตรีกำหนดว่าจะต้องมีความชัดเจนเดือนพฤศจิกายนนี้ จะต้องเริ่มจากรถเมล์อีวีของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แต่ขณะนี้ ขสมก.ยังไม่ประกาศทีโออาร์ประมูลแต่อย่างใด ขณะเดียวกันการส่งเสริมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กรมการขนส่งทางบก ก็ต้องมีข้อสรุปเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการร่วมกันในเดือนพฤศจิกายนนี้” รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าว. -สำนักข่าวไทย