สำนักข่าวไทย 20 มิ.ย.-ดีเอสไอ ร่วมกับ จ.แม่ฮ่องสอน ลุยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พบออกเอกสารสิทธิ์ขึ้นทะเบียนสวนป่าหวังค้าไม้หวงห้าม
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พร้อมด้วย นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ต.ท มนตรี บุณยโยธิน ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากกรมป่าไม้ เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย และพื้นที่สวนป่าในเขต อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน หลังดีเอสไอได้รับการร้องเรียนจากอดีตข้าราชการระดับสูง จ.แม่ฮ่องสอน เกี่ยวกับพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลที่ใช้วิธีการตัดไม้ทำลายป่า แล้วนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่าตามพ.ร.บ.สวนป่าพ.ศ.2535 เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด แล้วนำหลัก ฐานที่ดินในรูปแบบประเภทน.ส.3, น.ส.3 ก.,โฉนดที่ดิน , ส.ป.ก.4-01 หรือหลักฐานที่ดินประเภทต่างๆมาอ้างว่าที่ดินดังกล่าวมีการปลูกสวนป่า ซึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นไม้สัก และนำมาขึ้นทะเบียนตามกฎหมายดังกล่าว แต่ความเป็นจริงคือ มีไม้หวงห้ามมีค่าบางส่วนที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ก่อนการขึ้นทะเบียน ต่อมาผู้ที่ขึ้นทะเบียนสวนป่าก็จะขออนุญาตตัดไม้ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อนำไปดำเนินการในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งไม้หวงห้ามที่ไม่ได้ปลูกด้วย
พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า จากการสอบสวนพยานหลักฐานและพฤติการณ์การกระทำผิดในพื้นที่ พบว่าในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีการขึ้นทะเบียนสวนป่าทั้งหมด 444 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 7,849–2-40 ไร่ และพบว่ามีไม้สักขึ้นทะเบียนที่จะถูกตัดจำนวนถึง 816,786 ต้น แต่ผลการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนส่วนป่าบางแห่งพบข้อเท็จจริง คือ การขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า รายของนายวิสุทธิ์ บุรุษภักดี พบว่าในพื้นที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่อง สอน มีการใช้เอกสาร น.ส.3 ก. จำนวน 14 แปลง รวมเนื้อที่ 391-1-91 ไร่ ได้แก่ น.ส.3 ก.เลขที่ 153, 250 ต.ขุนยวม,เลขที่ 150, 154, 156, 157, 158, 161, 249, 251, 441, 447, 524 และ 587 ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน มีจำนวนไม้ที่ขอขึ้นทะเบียน 156,200 ต้น ได้มีการรับขึ้นทะเบียนที่ดินดังกล่าวเป็นสวนป่าไว้แล้ว แต่จากการตรวจสอบของหน่วย งานที่เกี่ยวข้องพบว่า พื้นที่ที่มีการขึ้นทะเบียนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย จำนวน 10 แปลง รวมเนื้อที่จำนวน 278–2-63 ไร่ จำ นวนไม้ที่ขอขึ้นทะเบียน 111,100 ต้น และอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่กันออกจำนวน 4 แปลง รวมเนื้อที่ 112–3-28 ไร่ มีการฟ้อง ร้องคดี โดยศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2538 และเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2546 ว่าเป็นเอกสารปลอม พื้นที่ดังกล่าวมีการตัดไม้ทำลายป่าไปบางส่วนแล้ว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ดีเอสไอจึงรับไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ
ส่วนการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่ารายของนางจตุพร กวีวัฒน์ พบว่ามีการนำโฉนดที่ดินเลขที่ 8463 ออกเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2552 โดยวิธีการเดินสำรวจ มาใช้เป็นหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนสวนป่าเนื้อที่ 1-0-10 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวมีไม้สักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จำนวน 11 ต้น ความโตเฉลี่ย 201.23 เซนติเมตร มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ได้นำมายื่นขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าเมื่อวันที่ 6 ส.ค 2555 ตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินตามโฉนดอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปายทั้งแปลง โฉนดดังกล่าวออกผิดกฎ หมาย และได้ตัดไม้ธรรมชาติไปหมดทั้งแปลงแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างดำเนินการของดีเอสไอ
ขณะที่การขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า รายนางทองใส ญาณวุฒิ พบว่ามีการนำโฉนดที่ดินเลขที่ 758 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื้อที่ 8– 3 – 37.1 ไร่ ไปยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสวนป่าต่อผู้ว่าราชการจัง หวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะเป็นนายทะเบียนที่ดินสวนป่า ต่อมาได้ขอถอนคำร้อง และกลับมายื่นคำขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าอีกครั้ง โดยผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบและยังไม่มีคำ สั่งรับขึ้นทะเบียน ต่อมาวันที่ 1 ก.พ. 2556 กรมป่าไม้ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ เนื่องจากมีการขออนุญาตทำไม้สักออกพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนฯป่าแม่ปายฝั่งซ้ายทั้งแปลง จึงสั่งการให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอนตรวจสอบข้อเท็จจริงผลการตรวจสอบพบว่า ที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 758 ที่ นางทองใส นำมา ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า โดยเชื่อว่าน่าจะออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้ส่งเรื่องให้กรมที่ดินตรวจสอบ สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 758 ได้ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากหลักฐานใบจองออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอน ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 3540/2558 ลงวันที่ 29 ก.ย.2558 ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน มีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่ารายนางทองใสจากผลการสืบสวนดังกล่าว ดีเอสไอได้มีหนังสือแจ้งข้อมูลไปยังกรมป่าไม้ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่ต่อไป พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หากพบว่ามีการกระทำผิดในส่วนใด ก็ให้พิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป.-สำนักข่าวไทย