กรุงเทพฯ 20 มิ.ย. – กรมทางหลวงชนบทร่วมมือกระทรวงที่ดินฯ ญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน พร้อมลงพื้นที่นำร่องจุดเสี่ยง 2 จังหวัด
นายสมัย โชติสกุล รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นประธานในการจัดกิจกรรมการดำเนินงานระหว่างกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (MOC on Road Safety) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้การพัฒนาความปลอดภัยทางถนน และยกระดับความรู้เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรทั้ง 2 ประเทศ
สำหรับกรอบความร่วมมือนั้น MLIT จะนำเทคโนโลยีเครื่องมือตรวจสอบเส้นทางถนนว่าจุดใดเป็นเสี่ยงบ้าง เช่น กรณีทางโค้ง ถนนที่มีเขตทางเป็นจุดเสี่ยง สภาพผิวถนนทางแยกที่เป็นจุดเสี่ยง หลังจากทราบเส้นทางชัดเจนแล้วกรมทางหลวงชนบทจะตั้งงบประมาณเร่งด่วนในการแก้ไข ซึ่งจะมีทั้งงบประมาณปี 2561 จนถึง 2562 โดยเฉพาะจุดเสี่ยงใน 10 สายทางแรกที่จะมีการลงพื้นที่สำรวจตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบทได้นำเสนอจุดเสี่ยงบนทางหลวงชนบทที่ครอบคลุมทุกรูปแบบการใช้งานและลักษณะภูมิประเทศ 10 สายทาง เพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาปรับปรุงถนนให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ประกอบด้วย 1.ถนนเข้าสู่แหล่งอุตสาหกรรม ทางหลวงชนบทสาย สป.2001, 2. ถนนเข้าสู่แหล่งที่อยู่อาศัย ทางหลวงชนบทสาย นบ.1011, 3.ถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว ทางหลวงชนบทสาย นม.3052, 4. ถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ทางหลวงชนบทสาย สต.3009, 5.ถนนเข้าสู่ระบบการขนส่ง เช่น สถานีรถไฟ สนามบิน เป็นต้น ทางหลวงชนบทสาย ชบ.3009, 6.ถนนผังเมือง ถนนวงแหวนรอบกลาง ทางหลวงชนบทสาย ชม.3029 , 7.ถนนในพื้นที่ชนบท ทางหลวงชนบทสาย นม.3052,8. ถนนในเขตเมือง ทางหลวงชนบทสาย ชม.3029, 9. ถนนบนภูเขา ทางหลวงชนบทสาย พย.4030 และ 10. ถนนชายฝั่ง/ถนนเลียบคลอง ทางหลวงชนบทสาย ปท.3004
และในวันนี้ (20 มิ.ย.) คณะทำงานกรมทางหลวงชนบทได้นำลงพื้นที่จุดเสี่ยงบนถนนทางหลวงชนบท 2 สายทาง ได้แก่ สาย นบ.1011 แยกทางหลวงหมายเลข 9 – แยกทางหลวงชนบท นบ.3004 ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และ ถนนทางหลวงชนบทสาย สป.2001 แยกทางหลวงหมายเลข 34 – บ้านลาดกระบัง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อวิเคราะห์ศึกษาแนวทางการปรับปรุงถนนสายดังกล่าวให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตกรมทางหลวงชนบทวางเป้าหมายจะลงพื้นที่สำรวจและแก้ปัญหาจุดเสี่ยง ที่มีอยู่ในสายทางของกรมทางหลวงชนบททั้งหมด โดยปัจจุบันนี้กรมทางหลวงชนบทมีเส้นทางถนนอยู่ในกำกับดูแลทั่วประเทศกว่า 47,000 กิโลเมตร.-สำนักข่าวไทย