กรุงเทพฯ 15 มิ.ย. – รายได้ท้องถิ่นหายกว่าพันล้านบาท เตรียมปลดคนงาน คาดหวังรัฐบาลแก้ปัญหาพื้นที่ปิโตรเลียมใน ส.ป.ก.โดยเร็ว หลัง 7 บริษัทลงทุนรวมนับแสนล้านบาทไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพลังงานว่าเม็ดเงินลงทุนของ 7 บริษัท ที่ลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และต้องหยุดดำเนินการ หลังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจ้งให้หยุดดำเนินการ หลังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามวัตุประสงค์อื่น นอกเหนือจากเพื่อการเกษตร มีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่าแสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในแหล่งเอส 1 ขณะที่การหยุดผลิตส่งผลให้ บมจ.ปตท.และ บมจ.บางจากฯ ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาทดแทนมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยนำเข้าวันละ 35 ล้านบาท/ราย
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประเมินว่าจากการหยุดการผลิตของบริษัทผู้รับสัมปทานดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาท/วัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกว่า 26 ล้านบาท/วัน และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลงกว่า 3.55 ล้านบาท/วัน
สำหรับเงินรายได้ท้องถิ่นที่จะหายไปมากที่สุด ได้แก่ โครงการเอส 1 ของ ปตท.สผ.ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร โดยมีการชำระค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย รวม 1,914 ล้านบาทในปี 2559 โดยมีการจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีพื้นที่ผลิต 3 จังหวัดร้อยละ 20 ได้จังหวัดละ 127.6 ล้านบาท, อบต./เทศบาลในพื้นที่ผลิต 36 แห่ง ในสัดส่วนร้อยละ 20 ได้แห่งละ 10.6 ล้านบาท/ปี, อบต./เทศบาลในจังหวัดที่มีพื้นที่ผลิตร้อยละ 10 วงเงิน 191.4 และ อบต./เทศบาลในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ร้อยละ 10 วงเงิน 191.4 ล้านบาทในปี 2559 ที่เหลือร้อยละ 40 จะนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินวงเงิน 766.64 ล้านบาทในปี 2559
“นายกรัฐนตรีทราบเรื่องและเป็นเรื่องที่จะแก้ปัญหาให้การผลิตเดินหน้าได้ เพราะจะเห็นว่ากระทบทุกด้านทั้งการลงทุน การนำเข้าเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนสูงกว่า รวมถึงรายได้ค่าภาคหลวงลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี กระทบการจ่ายท้องถิ่นถึง 600 ล้านบาท/ปี” รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุ
นายธำรงค์ จันคง นายกเทศมนตรี เทศบาลลานกระบือ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ขอสนับสนุนนายกรัฐมนตรีเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว จะใช้มาตรา 44 หรืออะไรก็ได้ เพราะหากรายได้หายไป หน่วยงานท้องถิ่นกระทบหนัก ในส่วนของเทศบาลลานกระบือได้รายได้กว่า 12. ล้านบาท/ปี จ้างงาน 40-50 คน และมีงบไปพัฒนาท้องถิ่น หากพื้นที่ใน ส.ป.ก.ผลิตไม่ได้รายได้จะหายไปครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 5 ล้านบาท/ปีเท่านั้น และขณะนี้กำลังประชุมกันว่าจำเป็นต้องปลดคนงานออก
“อบต . อบจ. เทศบาล 3 จังหวัดกระทบหนักแน่ รายได้หายกว่าครึ่งจากเอส 1 ในพื้นที่ ส.ป.ก.หยุดผลิต ที่ผ่านมาเอส 1 ผลิตก็ไม่เคยมีปัญหาใด ๆ และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็อยากวอนขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยเร็ว” นายธำรงค์ กล่าว.- สำนักข่าวไทย