ราชบุรี 6 มิ.ย. – เกษตรกรชาว อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ แบ่งพื้นที่ปลูกผักผสมผสาน นำไผ่บงหวานสายพันธุ์ใหม่ กินหน่อสดได้โดยไม่ต้องต้ม หนึ่งเดียวของ จ.ราชบุรี ติดตามจากรายงาน “เกษตรสร้างชาติ”
พื้นที่ 20 ไร่ ของ “ขจรเกียรติ ไกรเลิศ” เกษตรกรชาว อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จัดแบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน ปลูกไผ่บงหวาน 9 ไร่ มะม่วงหิมพานต์ 8 ไร่ และต้นสน 3 ไร่ พร้อมขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ภายในพื้นที่ของตัวเอง โดยเฉพาะไผ่บงหวาน มีคุณสมบัติพิเศษ คือ รับประทานหน่อสดได้ โดยไม่ต้องต้มให้สุก
ขจรเกียรติ บอกว่า ซื้อกิ่งพันธุ์ไผ่บงหวาน 1,200 กิ่ง มาปลูกเมื่อปี 2553 หลังจากที่ดินแปลงนี้เคยปลูกต้นยูคาลิปตัส ทำให้ดินเสื่อมโทรม เมื่อนำต้นไผ่มาปลูก ใบไผ่ร่วงหล่นทับถมกันกลายเป็นปุ๋ยอย่างดี ทำให้ต้นไผ่ออกหน่อ เก็บได้ตลอดทั้งปี ส่งขายตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพ และรีสอร์ตใน อ.สวนผึ้ง ราคาขายตั้งแต่ 30-60 บาท/กิโลกรัม แล้วแต่ขนาด ทำให้มีรายได้เข้ามาไม่ขาดมือ
การดูแลจะตัดแต่งกิ่งไผ่ที่งอกออกมาบริเวณลำต้นและโคนต้น ใช้ระบบน้ำฉีดที่โคนต้น ใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะปุ๋ยมูลค้างคาว นอกจากนี้ ใช้น้ำหมักของกรมพัฒนาที่ดิน และหมักเชื้อไตรโคเดอร์มา เพื่อดูแลรากไผ่ให้แข็งแรงมากพอที่จะออกหน่อได้ในปริมาณที่มากขึ้น ถือเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งขจรเกียรติได้นำไผ่บงหวานไปตรวจสอบที่สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ไผ่ชนิดนี้ไม่มีสารไซยาไนด์ เป็นชนิดเดียวที่รับประทานสดได้ โดยไม่มีอันตรายต่อร่างกาย
สำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึง ได้นำนักวิชาการมาแนะนำวิธีการบริหารจัดการแปลงไผ่ เพื่อพัฒนาต่อยอดประเมินแปลงเบื้องต้นไปยังกรมวิชาการเกษตรแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างออกใบรับรอง GAP และพัฒนาเป็นสวนไผ่เกษตรอินทรีย์
หน่อไม้ไผ่บงหวานสายพันธุ์นี้ ยังนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งจิ้มกับน้ำพริก ตำส้มตำ ผัด ต้มจืด และอีกหลายเมนูที่รสชาติหวาน มัน กรอบ กินหน่อสดได้อย่างปลอดภัยจากสารเคมี และดีต่อร่างกาย. – สำนักข่าวไทย