ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ 3 พ.ย. – บอร์ด ธ.ก.ส.เห็นชอบสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ เตรียมเงินรองรับ 46,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกร เตรียมผลิตข้าวถุง A-Rice รองรับชาวนาไม่ไถ่ถอนข้าว
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 วงเงินรวม 27,410 ล้านบาท และโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิปีการผลิต 2559/2560 วงเงินรวม 19,375 ล้านบาท จึงต้องใช้เงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 46,785 ล้านบาท หลังจากข้าวหอมมะลิในตลาดโลกมีจำนวนมาก และรัฐบาลยังมีข้าวอยู่ในสตอก จึงทำให้ราคาข้าวหอมมะลิปรับลดลง
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะเริ่มให้ชาวนาจำนำยุ้งฉางด้วยข้าวหอมมะลิ กข.15,105 ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ราคา 9,500 บาทต่อตัน (ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป) รับเงินภายใน 3 วัน ระยะเวลาเก็บข้าวและคืนเงินไม่เกิน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย ชาวนายังได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท นอกจากยังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีก 2,000 บาทต่อตัน (800 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่) รวมเป็นเงินชาวนาจะได้รับทั้งสิ้น 13,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก สำหรับชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกและต้องขายข้าวเปลือกเองจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง และอาจนำข้าวไปขายสถาบันเกษตรกร วิสหากิจชุมชนที่มีลานตากข้าว
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยอมรับว่า หากชาวนาไม่ยอมมาไถ่ถอนข้าวที่ประกันสินเชื่อไว้ ธ.ก.ส.เตรียมสีข้าวแปรสภาพบรรจุถุงขายปลีกผ่าน สหกรณ์เครือข่ายทั่วประเทศ จากต้นทุนจำนำข้าว 19 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนสีข้าว 4 บาทต่อกิโลกรัม จึงมีต้นทุนการผลิต 23-24 บาทต่อตัน เพื่อผลิตข้าวถุงตรา A-Rice คาดว่าอยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ โดยปีที่ผ่านมาจำนำยุ้งฉางและนำข้าวที่ไม่ได้ไถ่ถอนมาแปรสภาพและระบายด้วยวิธีการอื่น 200,000 ตัน โดยโครงการสินเชื่อชะลอการขายครอบคลุมถึงสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวเปลือกด้วย สำหรับต้นทุนการปลูกข้าวหอมะลิประมาณ 10,400 บาทต่อตัน เมื่อรัฐบาลช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ แล้วจะทำให้มีรายได้เพียงพอต่อการปลูกข้าว
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ตั้งแต่ฤดูการผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย 1. การโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกร สำหรับผู้มีภาระหนี้เงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท พักชำระต้นเงิน 2 ปี ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2561 และลดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี กลุ่มเป้าหมาย 2 ล้านราย 2.การลดต้นทุนการผลิต จ่ายเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ ช่วยลดต้นทุนการผลิตตันละ 2,500 บาท เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 – 31 ธันวาคม 2559 ยกเว้นภาคใต้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีชาวนาได้รับประโยชน์ 3.7 ล้านราย ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 2.8 ล้านราย เป็นเงิน 23,262 ล้านบาท
3.ช่วยคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 พื้นที่เป้าหมาย 30 ล้านไร่ โดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส.อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวม 1.5 ล้านคน มีพื้นที่เอาประกันภัย 27 ล้านไร่ เบี้ยประกันภัยรวม 2,700 ล้านบาท 4. การรักษาเสถียรภาพราคาข้าว เพื่อรวบรวมข้าวปีการผลิต 2559/2560 ให้กับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน-ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกสำหรับจำหน่าย/แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ออกโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเก็บสตอกข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้า ฤดูกาล 2559/2560 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 มีนาคม 2560 ล่าสุดมีโรงสีสนใจเข้าร่วมโครงการ 354 ราย ธนาคาร 11 ราย เตรียมวงเงินสินเชื่อรองรับ 80,000 ล้านบาท รัฐบาลช่วยชดเชยภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 ในช่วงเก็บข้าวเปลือกไว้ในสตอก.-สำนักข่าวไทย