รัฐสภา 22 พ.ค.- สปท.เห็นชอบรายงานการปฏิรูปการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ ที่เสนอยุบ กต.ตร.ภูธร และนครบาล ให้ กต.ตร.จังหวัดประเมินผลสถานีตำรวจภูธร พร้อมตั้ง กต.ตร.กองบังคับการตำรวจนครบาลประเมินผลทุก สน.
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ โดยนายเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานกรรมาธิการฯ เป็นผู้นำเสนอรายงานว่า การปฏิรูปนี้จะเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการตรวจสอบและติดตามการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงสนับสนุนภารกิจของตำรวจ
พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในด้านการตรวจสอบและติดตามการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนั้น ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) จำนวน 1,559 ชุด และองค์ประกอบ กต.ตร.กำหนดให้มีสัดส่วนตัวแทนประชาชนหรือภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการสรรหา โดยกรรมการ โดยตำแหน่ง จึงเสนอว่า ควรยุบ กต.ตร.ภูธรและนครบาล และให้ กต.ตร.จังหวัด ทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามประเมินผลในทุกสถานีตำรวจภูธรแทน และตั้ง กต.ตร.กองบังคับการตำรวจนครบาลเพื่อตรวจสอบและติดตามประเมินผลในสถานีตำรวจนครบาลทุกสถานี และให้มีกต.ตร.ระดับกองบัญชาการ ทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามประเมินผลการบริหารงานของตำรวจภูธรจังหวัดและสถานีตำรวจนครบาลในสังกัด เพื่อเปรียบเทียบผลงานในภาคเดียวกัน
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า การกำหนดให้ กต.ตร. เป็นผู้รับแนวทางและนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ของ กต.ตร.ที่ให้ตรวจสอบและติดตามประเมินผล รวมถึงการกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ กต.ตร.พัฒนาการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ และการบริหารงานตำรวจ ให้คำแนะนำประชาสัมพันธ์งานตำรวจ ซึ่งจะกลายเป็นผู้ปฏิบัติงานเอง ไม่ใช่ผู้ตรวจสอบ อีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่า มีการทำรายงานประเมินผลปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบของกต.ตร.คณะใด เสนอมายัง ก.ต.ช.ด้วย
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งภาคเอกชน หรือ อาสาสมัคร ให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนภารกิจของตำรวจและการรักษาความปลอดภัยในแต่ละชุมชน ภายใต้นโยบายตาม ก.ต.ช. พร้อมกับสร้างเครือข่ายชุมชนแนวร่วม เพื่อให้อาสาสมัครสามารถแจ้งข่าวสารร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น Police i lert u ซึ่งเป็นโครงการทดลองริเริ่ม เพื่อแก้ปัญหาความขัดข้องของระบบแจ้งเหตุ 191 ที่มีผู้โทรมาก่อกวนถึงร้อยละ 80 ต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจของประชาชน ทั้งการเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน อาสาจราจร สมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรม จะปรับปรุงโครงสร้างใหม่ให้มีประสิทธิภาพ เช่น อาสาสมัครตำรวจบ้าน ปัจจุบันมีกว่า 164,000 คน แต่ปฏิบัติการในลักษณะลอยตัว ไม่เกิดประโยชน์ จึงจะกำหนดกรอบอัตราความต้องการ เช่น ในสถานีตำรวจขนาดใหญ่ ให้มีอาสามัครได้ไม่เกิน 40 คน ขนาดกลาง ไม่เกิน 30 คน เป็นต้น เพื่อลดจำนวนอาสาสมัคร ซึ่งการกำหนดตามกรอบดังกล่าว อาสาสมัครทั่วประเทศ จะมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 55,000 คน
ขณะที่ สมาชิกสปท.ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับรายงาน แต่ตั้งข้อสังเกตถึงการปรับโครงสร้าง กต.ตร.โดยเฉพาะตำแหน่งประธาน กต.ตร.แต่ละคณะไม่ควรกำหนด 65-70 ปี และไม่ควรล็อคสเป็กเฉพาะอดีตข้าราชการตำรวจ อีกทั้งการกำหนดใช้งบประมาณส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนภารกิจของตำรวจอาจทำให้เกิดการแทรกแซงได้ จึงควรมีแนวทางป้องกันหรือกำหนดวิธีสร้างความโปร่งใสได้อย่างไร สมาชิก สปท. บางส่วน ก็ยังไม่มั่นใจว่าข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯจะดำเนินได้และเกิดการปฏิบัติได้จริงหรือไม่
จากนั้น ที่ประชุมสปท.มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ ด้วยคะแนน 140 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เพื่อส่งรายงานไปยังรัฐบาลต่อไป.-สำนักข่าวไทย