ทำเนียบฯ 22 พ.ค. – ปยป.เปิดทางให้ต่างชาติถือหุ้นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานเกินร้อยละ 50 เดินหน้าผลักดัน EEC นายกรัฐมนตรีขีดเส้น 3 เดือน 30 หน่วยงานร่วมจัดทำเว็บไซต์กลาง “Doing Bussines Total” หวังอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจเทียบชั้นประเทศพัฒนาแล้ว
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.)โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสั่งเดินหน้าผลักดันระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ด้วยการเห็นชอบเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถือหุ้นในบริษัทของคนไทยในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานเกินร้อยละ 50 รองรับนโยบายเมืองอุตสาหกรรมการบินภาคตะวันออก ซึ่งกำหนดเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานที่ลงทุนในระเบียงเศรษฐพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เท่านั้น เพื่อส่งเสริมการต่างชาติรายใหญ่เข้ามาร่วมพัฒนาอากาศยาน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เงื่อนไขทางลิขสิทธิ์ของอากาศยาน หากไม่ผ่อนปรนจะได้รับความสนใจมาลงทุนน้อย โดยมีเงื่อนไขต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับนักลงทุนในประเทศรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน
นอกจากนี้ ยังรับทราบการผ่อนปรนเงื่อนไขการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกทั้งการจัดทำขั้นตอนทั้งการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้มีความคล่องตัว จึงอนุมัติสำนักงานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรับทราบแผนดำเนินการร่วมลงทุนแบบ PPP ให้กระชับมากขึ้นจากเดิมใช้เวลานานกว่า 20 เดือน เหลือเพียง 9-10 เดือนในโครงการขนาดใหญ่นำร่อง ที่ประชุมยังแสดงความพอใจหลังรัฐบาลเดินหน้าพัฒนาอีอีซี เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอย่างมาก ทั้งจีน ยุโรป ญี่ปุ่น เช่น จีนเดินทางมาเจรจาจับคู่ธุรกิจแล้วหลายคณะ หอการค้าไทย-ยุโรปเชิญร่วมชี้แจงในเวทีสัมมนาอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ทีมเศรษฐกิจเตรียมเดินทางเยือนญี่ปุ่นต้นเดือนมิถุนายน เพื่อนำรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษคันไซโด่งดังในเรื่องศูนย์สุขภาพมาปรับใช้ในพื้นที่อีอีซีของไทย รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้มีความชัดเจน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ( ก.พ.ร.) กล่าวว่า หลังจากธนาคารโลกมองว่าแม้ไทยจะเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้หลายส่วนราชการ แต่ยังไม่เป็นระบบ One Stop Service อย่างแท้จริง เพราะการติดต่อขออนุญาตยังต้องติดต่อกับอีกหลายหน่วยงานที่เป็นเจ้าของใบอนุญาตและต้องส่งเอกสารฉบับเดิมให้ทุกหน่วยงาน ทำให้เสียเวลาและทำงานซ้ำซ้อน ที่ประชุม ปยป. จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเจ้าของใบอนุญาต 30 แห่ง ร่วมกันจัดทำเว็บไซต์กลาง Doing Business Total ด้วยการจัดทำแบบฟอร์มมาตรการเดียวกันเพียงใบเดียว (Single Form) สามารถยืนยันตัวตนทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยไม่ต้องยื่นเอกสารใหม่เพิ่มกับหน่วยงานอื่น โดยต้องดำเนินการให้ชัดเจนภายใน 3 เดือน โดยกำหนดการขอใบอนุญาตหลักมานำร่องผ่านการสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วงเงิน 4,000 ล้านบาท และหาองค์กรเป็นเจ้าภาพดูแลเว็บกลางดังกล่าว หวังเทียบชั้นการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาวันที่ 23 พฤษภาคม. – สำนักข่าวไทย