กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – ปตท.สผ.วอนรัฐสร้างความชัดเจนสัมปทานปิโตรเลียม “สิริกิติ์” ทับซ้อนพื้นที่ ส.ป.ก. มั่นใจปี้นี้คงกำลังผลิตตามแผนเร่งผลิตทั้งน้ำมัน คอนเดนเสต และเจรจาเมียนมาร์เพิ่มปริมาณขายก๊าซ
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อให้ช่วยเจรจาขอความชัดเจนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในแหล่งสิริกิติ์ หรือ S1 เพราะพื้นที่ของแหล่ง S1 มีบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.ทำให้ไม่สามารถสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ โดยพื้นที่เหล่านี้อยู่ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมที่เริ่มพบน้ำมันตั้งแต่ปี 2524 แต่ภายหลัง กระทรวงเกษตรฯ ประกาศพื้นที่สัมปทานส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ดังนั้น หากมีความชัดเจนเหมือนกับการอนุญาตใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ ส.ป.ก.
ทั้งนี้ แหล่งสิริกิติ์มีการสำรวจพบน้ำมันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2524 และเริ่มผลิตน้ำมันเมื่อเดือนธันวาคม 2525 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประ เทศไทยที่มีการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในการพาณิชย์ ครอบคลุมพื้นที่ 1,326 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์
นายสมพร กล่าวด้วยว่า บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเป้าปริมาณขายปิโตรเลียมปีนี้ที่ระดับ 300,000-310,000 บาร์เรล/วัน เพื่อลดผลกระทบจากรายได้ที่จำหน่ายก๊าซฯ ในประเทศลดลงจากความไม่แน่นอนของปริมาณการเรียกก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยผู้ซื้อ คือ บมจ.ปตท. (PTT) โดย ปตท.เรียกซื้อตามปริมาณสัญญา หรือ DCQ เท่านั้น หลังจากราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
สำหรับการรักษากำลังผลิตให้เป็นไปตามแผน ทาง ปตท.สผ.จะเพิ่มแผนการผลิตน้ำมันดิบบนบกในแหล่ง S1 และการผลิตคอนเดนเสทในอ่าวไทยให้มากขึ้น เพราะความต้องการน้ำมันในไทยยังเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันได้เจรจากับเมียนมาร์ เพื่อขายก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าและยาดานา โดยปีนี้วางเป้าหมายรักษาการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง S1 ที่ระดับ 27,000 บาร์เรล/วันเท่ากับปีที่แล้ว โดยบริษัทจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยบริษัทซื้อแหล่ง S1 เมื่อปี 2547 และสามารถเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบจากช่วงนี้นผลิตได้ในระดับ 17,600 บาร์เรล/วันเท่านั้น
นายสมพร กล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งน้ำมันนางนวลในอ่าวไทยยังคงศึกษาศักยภาพถี่ถ้วน เพื่อที่จะพัฒนาแหล่งดึงน้ำมันดิบออกมาใช้หลังจากได้หยุดการพัฒนาไปก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าปีหน้าน่าจะมีความชัดเจน หลังราคาน้ำมันขยับขั้นมา 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
นายสมพร กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการ Cash Maple แหล่งก๊าซฯ ที่ในออสเตรลีย มีสำรอง 3-4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (TCF) บริษัทเคยศึกษาการพัฒนาในรูปแบบเรือผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (FLNG) ซึ่งมีต้นทุนที่สูงแต่ปัจจุบันต้นทุนต่ำลงก็กำลังศึกษาว่าจะพัฒนา FLNG หรือร่วมมือกันบริษัทน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสาธารณูปพื้นฐานที่อาจจะทำให้สามารถผลิตเพื่อป้อนให้กับบริษัทเหล่านั้นได้ ก็จะสามารถทำให้มีการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ให้ดำเนินการได้ หากตัดสินใจลงทุนจะหาพันธมิตร ร่วมทุนเพราะเงินลงทุนก็เป็นระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายสมพร กล่าวว่า สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision :FID) นั้น ปัจจุบันมี 2-3 โครงการ ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งมีสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 8.5 คาดน่าจะตัดสินใจ FID ได้ภายในปีนี้ ,โครงการแหล่งอุบลคอนแทร็ค 4 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่บริษัทถือหุ้นร้อยละ 60 และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ มีสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 24.5 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันตั้งอยู่บนบกทางทิศตะวันออกของแอลจีเรีย วางเป้าหมายกำลังการผลิตเต็มที่ประมาณ 50,000 บาร์เรล/วัน. – สำนักข่าวไทย