จันทบุรี 21 พ.ค.- รองประธาน สนช. ฝาก กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับตีความกรอบเวลาการเลือกตั้งภายใน 150 วันให้ชัดเจน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวปิดการสัมมนาเรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่โรงแรมนิวแทรเวล ลอด์จ จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคมว่า เป้าหมายของการสัมมนาครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อหาข้อยุติ แต่เพื่อรับฟังความเห็นจากสมาชิกประกอบการตัดสินใจ เมื่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การประชุม สนช. และสมาชิก สนช.ต้องนำข้อดีข้อเสียที่กรรมาธิการได้ชี้แจงมาชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจด้วยตนเองบนพื้นฐานผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้หากพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้น ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งยังเป็นปัญหาว่า กรอบเวลาดังกล่าวรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้นจึงฝากให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ไปพิจารณาหาความชัดเจน หลังจาก กกต. และ กรธ. มีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า เรื่องนี้สามารถกำหนดให้ชัดเจนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.
“ผมขอฝากคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ต้องพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อตอบโจทย์การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองต่อไปในอนาคต ทำอย่างไรให้มีกฎหมายส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจอย่างแท้จริงในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรที่จะได้มีกฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยที่การเมืองไม่ถูกผูกขาดด้วยนักการเมือง ผมไม่ต้องการเห็นการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อหาทางออกกรณีมีความขัดแย้งในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงฝากให้คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเป็นอย่างดี อย่าให้บทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ”นายสุรชัย กล่าว
ด้านพลเอกศุภวุฒิ อุตมะ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.สนช. กล่าวว่า ประเด็นในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่ค้างการพิจารณา คือ ประเด็นการยกเลิก กกต.จังหวัดแล้วให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน และการคงอยู่ของ กกต.ชุดปัจจุบัน ซึ่งประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น ได้วิเคราะห์ว่า ข้อดีของการกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเป็นการปรับรูปแบบใหม่ ลดข้อครหาการใช้อำนาจที่ไม่เป็นกลางของ กกต.จังหวัด ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น สนับสนุนการผลิตงานของ กกต. ลดข้อครหาเรื่องความใกล้ชิดของพื้นที่ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเป็นอิสระ คล่องตัว อีกทั้งคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้งก็กำหนดไว้สูง และจะช่วยถ่วงดุลอำนาจของผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดด้วย แต่ข้อดีของ กกต.จังหวัด ก็จะเข้าใจพื้นที่มากกว่า ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้ง กกต.จังหวัด มีความผูกพันในพื้นที่มากกว่าและผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับ กกต.จังหวัด
ทั้งนี้ จากการสัมมนา สมาชิก สนช.ได้มีข้อสังเกตว่า รูปแบบของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่เคยมีใช้ในประเทศใดมาก่อน จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และจากที่ กรธ.มีข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งล้มเหลวเพราะ กกต.จังหวัดนั้น เป็นความจริงหรือไม่ ขณะที่การปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น จะต้องทำงานเต็มเวลาหรือไม่ และหากผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีภูมิลำเนาอยู่เชียงใหม่ แต่จับสลากได้ไปอยู่ในจังหวัดยะลา จะต้องย้ายไปหรือไม่ ซึ่งจากความเห็นทั้งหมดนี้ คณะกรรมาธิการจะนำกลับไปหารือ และขอความเห็นจาก กรธ. กกต.และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาสรุปต่อไป
ส่วนเรื่องการคงอยู่ของ กกต. ชุดปัจจุบัน ในการสัมมนาเห็นว่า ควรยึดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 273 ที่ให้การคงอยู่นั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่า กฎหมายจะกำหนดไว้อย่างไรก็ได้ เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ การเซ็ตซีโร่ ให้มีการสรรหาคณะกรรมการ กกต. ใหม่ทั้งหมด / การรีเซ็ตโดยให้ กกต. ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ พ้นตำแหน่งและสรรหาเพิ่มทำจำนวนที่ขาดไป และอีกแนวทาง คือ ให้ กกต. ชุดปัจจุบันอยุ่ต่อไปจนครบวาระตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ปี2550 กำหนด
ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่กำหนดหลักการพิจารณา ว่า ต้องยึดหลักกฎหมาย จะต้องไม่มีผลย้อนหลัง และต้องคำนึงถึงหลักปัจเจกชนด้วย พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า การคงอยู่ของกกต.ชุดปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากในรัฐธรรมนูญ มีบทเฉพาะกาล จะต้องพิจารณาที่บทเฉพาะกาลก่อน โดยยังไม่ต้องไปคำนึงถึงบทหลักว่าจะขัดหรือแย้งหรือไม่
ด้านพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า เรื่องการจ่ายทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง ยังมีความเห็นที่หลากหลาย บางส่วนเห็นว่า ไม่ควรมี เพราะจะเป็นการขวางกั้น ไม่ให้ผู้ยากไร้ได้จัดตั้งพรรคการเมือง แต่บางส่วนเห็นว่า ควรจะมี เพราะพรรคการเมืองจะได้ไม่เป็นเครื่องมือของนายทุน ขณะที่การจ่ายค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมือง มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ในร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ กำหนดให้ต้องจ่ายค่าสมาชิก เพราะในอดีต สมาชิกและพรรคการเมืองไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่มีการดำเนินการกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกและพรรคการเมือง จึงเกิดการสมัครสมาชิกซ้ำซ้อนในหลายพรรคการเมือง โดยในร่างนี้ กำหนดให้จ่ายไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อปี แต่บางส่วนเห็นว่า ควรให้จ่ายน้อยกว่า 100 บาทต่อปี หรือในปีแรกควรจะงดเว้นการเก็บค่าสมาชิก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการปฏิรูปพรรคการเมือง ที่เสนอให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนในการเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย.-สำนักข่าวไทย