กรมอนามัย 12 พ.ค. กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้โรงเรียนทำความสะอาดตู้น้ำดื่มในโรงเรียน เพื่อสร้างความปลอดภัย รับเปิดเทอม
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำบริโภคโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพตรวจทางห้องปฏิบัติการ ปี 2558 พบว่ามีคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 37.5 ซึ่งพบการปนเปื้อนแบคทีเรียมากสุด ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลของนักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน เช่น การใช้แก้วน้ำร่วมกัน การไม่ล้างแก้วน้ำก่อนดื่ม การเทน้ำคว่ำถัง โดยใช้มือปิดปากถัง รวมถึงไม่มีการดูแลบำรุงรักษาตู้น้ำเย็น หรือเครื่องกรองน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ และไม่ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรอง หรือล้างย้อนตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ การปนเปื้อนจากการขนส่งและการเก็บรักษา ถังน้ำดื่ม รวมถึงโรงเรียนใช้น้ำจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และปัญหาไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช็อต เนื่องจากไม่ติดตั้งสายดิน ตลอดจนความเฉอะแฉะของจุดตั้งตู้น้ำดื่ม
“ก่อนเปิดเทอม เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยของนักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน รวมถึงผู้ที่เข้ามาติดต่อที่โรงเรียน ผู้ดูแลตู้น้ำดื่มต้องทำความสะอาดให้พร้อมใช้งาน โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยการปิดสวิท ถอดปลั๊ก ระบายน้ำที่ค้างในตู้ออก นำถาดพลาสติกในช่องคว่ำน้ำออกไปทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เทน้ำร้อนลงในช่องคว่ำถัง ทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วขัดด้วยฟองน้ำ ระบายน้ำทิ้ง เติมน้ำร้อนอีกครั้ง ทิ้งไว้ 2-3 นาที หรือใช้คลอรีน 60 เปอร์เซ็นต์ ต้องผสมในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 2-3 นาที ปล่อยน้ำทิ้งแล้วล้างด้วยน้ำเปล่า ส่วนการคว่ำถังน้ำตู้น้ำดื่ม ต้องปิดสวิท ถอดปลั๊ก ระบายน้ำที่ค้างในตู้ออก เช็ดถังน้ำในส่วนคอขวด และส่วนที่สัมผัสกับตู้น้ำดื่ม ด้วยผ้าสะอาดหรือแอลกอฮอล์ คว่ำถังลงบนตู้น้ำดื่ม โดยไม่เอามือจับปากขวดและบริเวณที่จะสัมผัสน้ำในตู้น้ำดื่ม ทดสอบการไหลของน้ำ และเสียบปลั๊ก เปิด สวิทใช้งาน และควรล้างเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยและไม่ปนเปื้อนแบคทีเรีย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย