นครราชสีมา 4 พ.ค.- สุดทน หญิงสาวปีนเสาสัญญาณวิทยุสูงกว่า 30 เมตร ในสถานีตำรวจภูธรภาค 3 ขอความเป็นธรรมคดีดาบตำรวจข่มขืนหลานสาววัย 14 ปี ผ่านไปเป็นปีคดีไม่คืบ
เวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 4 พ.ค. เกิดเหตุหญิงสาวคนหนึ่งปีนเสาส่งสัญญาณวิทยุสูง ภายในสถานีตำรวจภูธรภาค 3 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยหญิงสาวคนดังกล่าวปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนตะแกรงเหล็ก บริเวณกลางเสาสัญญาณ ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินกว่า 30 เมตร และทำทีเหมือนจะกระโดดลงมาฆ่าตัวตาย เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถกระเช้าขึ้นไปเจรจา โดยมี นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ พล.ต.ต.สุภากร คำสิงห์นอก ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ช่วยกันใช้โทรโข่งพูดเจรจาเกลี้ยกล่อมอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่หญิงสาวคนดังกล่าวจะยินยอมลงมาแต่โดยดี
พบว่าหญิงคนดังกล่าว อายุ 35 ปี ได้ส่งกระดาษแผ่นเล็กให้กับเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือ ซึ่งบนกระดาษได้เขียนข้อความระบุ ขอความเป็นธรรมอ้างว่า ดาบตำรวจคนหนึ่ง สังกัดสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กระทำการข่มขืนอนาจารเด็กหญิงอายุ 14 ปี ซึ่งเด็กหญิงคนดังกล่าวมีศักดิ์เป็นหลาน โดยหลังเกิดเหตุได้แจ้งความดำเนินคดีกับดาบตำรวจผู้ก่อเหตุ แต่ระยะเวลาผ่านไปนานเป็นปีคดีไม่มีความคืบหน้า และเมื่อถึงชั้นอัยการกลับสั่งไม่ฟ้อง นอกจากนี้ทางฝ่ายตำรวจยังมีการเจรจาขอจ่ายเงินค่าเสียหาย
โดยหลังเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือหญิงสาวคนดังกล่าวลงมาได้อย่างปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวหญิงสาวส่งไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
สำหรับเรื่องคดีข่มขืนหลานนั้น พล.ต.ต.สุภากร ชี้แจงว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2559 ในเขต สภ.เมืองนครราชสีมา พนักงานสอบสวนทำสำนวนตามขั้นตอน มีความเห็นสั่งฟ้องดาบตำรวจ ผู้ถูกกล่าวหาข่มขืนอนาจารเด็กหญิง 14 ปี แต่เมื่อไปถึงชั้นอัยการ กลับมีความเห็นแย้ง สั่งไม่ฟ้อง ยืนยันคดีนี้ตำรวจดำเนินการตามพยานหลักฐาน ตรงไปตรงมา ไม่ได้เอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกัน ผู้เสียหายเห็นว่าคดีล่าช้า หรือคดีไม่ถูกสั่งฟ้อง จึงเกิดความเครียด ก่อเหตุปีนเสาสูง เพื่อประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรม
ด้าน พล.ต.ต.สุรพล แก้วขาว รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ยืนยันว่า ตอนนี้สำนวนคดีที่ ดาบตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง ข่มขืนอนาจารเด็กหญิง 14 ปี มาอยู่ที่ตำรวจภูธรภาค 3 แล้ว จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในการพิจารณาสำนวนตามพยานหลักฐาน ซึ่งอาจจะมีความเห็น 2 ทาง คือ เห็นแย้งจากอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง เรื่องจะส่งไปยังสำนักงานอธิบดีอัยการสูงสุด พิจารณาใหม่ และอีกทาง คือ เห็นตามอัยการ สำนวนก็จะจบไป ซึ่งผู้เสียหายต้องไปทำเรื่องฟ้องศาลด้วยตัวเอง.-สำนักข่าวไทย