อย.2 พ.ค.-อย.เผยอย่าหลงเชื่อกระแสสื่อออนไลน์ เครื่องดื่มอวดอ้าง ดื่มแล้วช่วยให้หลับสบาย อารมณ์ดี สดชื่น คลายเครียด คลายกังวล พบเป็นการโฆษณาทางเว็บไซต์โดยไม่ได้รับอนุญาตและโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เตรียมระงับโฆษณา และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดี
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสทางสื่อออนไลน์กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดหนึ่งว่าเมื่อดื่มแล้วจะช่วยให้หลับสบาย อารมณ์ดี สดชื่น คลายเครียด คลายกังวลนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบพบว่า เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางเว็บไซต์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณภาพเพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องได้รับความเห็นชอบจาก อย. ก่อน ผู้ขออนุญาตจะต้องแสดงเอกสารหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์การกล่าวอ้างนั้น ๆและต้องไม่แสดงสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคและไม่หลอกลวงหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
ส่วนการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต้องเป็นไปตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและเรื่องฉลาก กำหนด ซึ่งต้องไม่เป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร หรือไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสําคัญ หรือเข้าใจว่ามีส่วนผสมอยู่ในอาหารโดยที่ไม่มีวัตถุนั้นผสมอยู่ หรือมีผสมอยู่ในปริมาณที่ไม่อาจแสดงสรรพคุณได้
รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า อย.จะได้ดำเนินการระงับการโฆษณาและเชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อ มาดำเนินการตามกฎหมาย และประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง กรณีเป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพิสูจน์ได้ว่า เป็นการโฆษณาโดยแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ โอ้อวด หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดย ไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีพบการแสดงฉลาก ไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หากพิสูจน์ได้ว่า ข้อความบนฉลากเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ เข้าข่ายเป็นฉลากลวง มีโทษจำคุก 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าโฆษณาด้วยวิธีการต่าง ๆ ในลักษณะที่เกินเลยความเป็นจริง หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารเกินจริง ขอใหร้องเรียนมาที่สายด่วน 1556 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป .-สำนักข่าวไทย