สมุทรสาคร 1 พ.ค. – สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีแรงงามข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวพม่า เข้ามาทำงานจำนวนมากที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศ โดยที่ผ่านมาประสบปัญหาความหนาแน่นของที่พัก ซึ่งกระจุกตัวอยู่กันมากในอำเภอเมือง ทำให้เมื่อ 6 ปีก่อน จังหวัดจึงร่วมกับเอกชนใช้อาคารบ้านเอื้ออาทรที่ว่างเปล่าของการเคหะแห่งชาติ ให้เจ้าของโรงงานนำแรงงานมาเช่าอยู่ซึ่งประสบความสำเร็จ กระทรวงแรงงานจึงใช้สมุทรสาครโมเดล นำร่องโซนนิ่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ในอีก 13 จังหวัดด้วย
โมดูซา แรงงานพม่าและครอบครัว อาศัยอยู่ในโครงการบ้านเอื้ออาทรท่าจีน อ.เมือง สมุทรสาคร มากว่า 5 ปีแล้ว ห้องพักขนาด 33 ตารางเมตร มีห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องครัว ค่าเช่าเดือนละ 1,800 บาท เป็นราคาที่ยอมรับได้
ส่วนแรงงานพม่าคนนี้ ทำในโรงงานผลิตอาหารเสริม นายจ้างเป็นผู้ติดต่อเช่าห้องให้เธอ แล้วหักจากบัญชีเงินเดือน
ที่พัก 27 อาคาร แต่ละตึกมี 48 ห้อง แรงงานข้ามชาติสับเปลี่ยนเข้าพัก การมีห้องพักเป็นสัดส่วน ไม่ได้เช่าอยู่อย่างแออัด เริ่มเป็นที่นิยม ที่นี่มี รปภ. มีคลินิค และพบเห็นวิถีชีวิตพม่าผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น
การจัดระเบียบเป็นโซนนิ่ง เช่น โครงการที่ท่าจีนนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการนำบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2554 ทั้งหมด 56 อาคาร แต่มีคนไทยมาซื้ออยู่อาศัยเพียง 11 อาคาร เหลืออาคารเปล่าอยู่ 45 อาคาร จังหวัดร่วมกับการเคหะ ผู้ประกอบการ จึงใช้วิธีเช่าไว้เป็นที่พักแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันมีแรงงานของโรงงานกว่า 100 แห่งเข้าพัก
สมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงานราว 300,000 คน กว่าร้อยละ 90 เป็นชาวพม่า แต่ที่มีอยู่จริงสูงกว่านี้หลายเท่า อาศัยอยู่อย่างแออัดใน 3 ตำบลของอำเภอเมือง บางชุมชนอยู่นับหมื่นคน ก่อปัญหาหลายด้าน เช่น สุขอนามัย และอาชญากรรม
แรงงานจังหวัดบอกว่า การโซนนิ่งที่พักโดยให้แรงงานข้ามชาติเช่าห้องโครงการเอื้ออาทร สมุทรสาครถือเป็นโมเดลนำร่องจังหวัดแรก ล่าสุด กำลังพิจารณาปรับปรุงที่พักที่บ้านเอื้ออาทร 2 เลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ที่มีอีก 18 อาคาร รองรับได้อีกกว่า 3,000 คน
กระทรวงแรงงานกำหนดให้สมุทรสาครและระนอง เป็นต้นแบบการจัดระเบียบที่พักแรงงานข้ามชาติให้เป็นที่ยอมรับตามหลักสากล ตั้งแต่การจ้างงาน คุณภาพชีวิต และค่าจ้างที่เป็นธรรม และขยายรูปแบบไปใน 13 จังหวัด เช่น ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับแรงงานข้ามชาติอีกมากกว่า 50,000 คน และเป็นการดึงให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย