กรุงเทพฯ 7 พ.ย. – พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน วอน กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. เร่งพิจารณากฎหมายเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบวาระ 2-3 ให้เสร็จสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ก่อนประสบภาวะเสี่ยงด้านความมั่นคงพลังงาน พร้อมระบุปัญหาโรงไฟฟ้าไอพีพี “กัลฟ์” จะยุติเสร็จสิ้นปลายปีนี้เช่นกัน
พล.อ.อนันตพร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้หารือกับ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิก สนช.ในฐานประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยแจ้งถึงเหตุผลความจำเป็นขอให้ กมธ.เร่งพิจารณา เพื่อจะได้เสนอต่อ สนช.วาระ 2-3 ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2559 โดยขณะนี้ กมธ.แจ้งว่าขอเลื่อนเวลาพิจารณาเพิ่มอีก 2 เดือน หรือพิจารณาให้เส็จสิ้นภายในปลายเดือนธันวาคม จึงเกรงว่าหาก สนช.อนุมัติตามที่ กมธ.ฯ เสนออาจทำให้ล่าช้า และกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมของแหล่งที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณและบงกช เพราะเอกชนไม่สามารถวางแผนลงทุนผลิตได้ จึงขอให้ กมธ.เร่งพิจารณา ซึ่งทราบว่าวันนี้ ทาง กมธ.ฯ จะประชุมเรื่องนี้ เพื่อเสนอ สนช.ต่อไป
“ขณะนี้ยังมั่นใจว่าจะเปิดประมูลแหล่งหมดอายุสัมปทานได้ภายในเดือนมีนาคม 2560 โดยกฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ได้ภายในสิ้นปีนี้ และรับทราบผลประมูลทั้งหมดภายในปี 2560 โดยยืนยันว่า การประมูลจะใช้แนวทางตามร่างกฎหมายใหม่เท่านั้น ไม่ได้ยึดตามกฎหมายปัจจุบัน แม้ว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเสนอทางเลือกนี้ เพื่อป้องการขาดช่วงของการผลิตก็ตาม” รมว.พลังงาน กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า ได้ให้กรมเชื้อเพลิงฯ หารือกับโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ดำเนินการผลิตของทั้ง 2 แหล่ง คือ เชฟรอน และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยขอให้รักษาระดับกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการพิจารณาของ กมธ.ฯ ต้องล่าช้าไปเล็กน้อย ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ประสานเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าให้เร็วที่สุด
รมว.พลังงาน ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการพิจารณาเรื่องโรงไฟฟ้าไอพีพี ของกลุ่ม “กัลฟ์” 2 โรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์นั้น ล่าสุดคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับให้กระทรวงพลังงานเจรจากับกัลฟ์ บนหลักการที่ถูกต้อง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ซึ่งทุกอย่างจะจบสิ้นชัดเจนภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มกัลฟ์ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งแต่ปี 2556 ให้ชนะการคัดเลือกเพียงรายเดียว จำนวน 2 สัญญา ๆ ละ 2,500 เมกะวัตต์ รวม 5,000 เมกะวัตต์ จากที่ทาง กกพ.ประกาศรับซื้อ 5,400 เมกะวัตต์ ในปี 2564-2569 อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศและให้ คตร.ตรวจสอบสัญญาก่อนหน้านี้ คตร.ได้เสนอให้เจรจาก่อสร้างเพียง 1 สัญญาเท่านั้น เพราะ มี 1 สัญญา ผิดเงื่อนไขประมูลสากล เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องก่อสร้างสายส่งมารับไฟฟ้าวงเงิน 7,000 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวม แพงกว่าที่กัลฟ์เสนอมา. – สำนักข่าวไทย