กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผู้ใช้แรงงานพบปัญหาหนี้นอกระบบดีขึ้นในรอบ 4 ปี แต่ให้รัฐบาลติดตามดูแลหลายด้าน คาดวันแรงงานปีนี้คึกคึกมีเงินสะพัด 2,100 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท 1,258 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 97 ยังมีภาระหนี้สิน เนื่องจากกู้ยืมเงินมาซื้อยานพาหนะ รองลงมาเป็นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และซื้อที่อยู่อาศัย โดยมีหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 131,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 8 ปี
ทั้งนี้ หนี้เริ่มเข้าสู่ระบบมากขึ้น มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 46.4 ดีที่สุดในรอบ 4 ปี จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 39.3 ตามนโยบายรัฐที่ให้ประชาชนเข้าถึงสถาบันการเงินมากขึ้น ทำให้ภาระการชำระหนี้ลดลง แต่ยังประสบปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากรายได้เท่าเดิม แต่ราคาสินค้าแพงขึ้น และวันหยุดแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้ ยังคาดว่าบรรยากาศจะคึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา ในการเดินทางไปท่องเที่ยว การเลี้ยงสังสรรค์ การทานอาหารนอกบ้าน และการทำบุญ เฉลี่ยมีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณคนละ 1,335 บาท คาดว่าจะมีการใช้จ่ายรวมทั้งประเทศประมาณ 2,115 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3 ส่วนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ อันดับแรก ยังต้องการให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ควรมีการปรับขึ้นทุกปี โดยใน 3 ปีครั้งหน้า ควรปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 410 บาท
นอกจากนี้ แม้ภาระหนี้ภาคแรงงานจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับหนี้มาใช้ในการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ และบ้านมากขึ้น รวมทั้งยังมีความสามารถในการชำระอยู่ในระดับที่ดี และเริ่มมีการออมเพิ่มขึ้น ขณะที่สัญญาณการจ้างงานน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อัตราการว่างงานสูงขึ้นร้อยละ 1.3 โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้อัตราการจ้างงานลดลง โดยช่วงสิ้นปีคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือไม่เกินร้อยละ 1.-สำนักข่าวไทย