กรุงเทพฯ 25 เม.ย.-สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอยู่ระหว่างการดำเนินการกับ 10 มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ยังไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งนักวิชาการยังชี้ด้วยว่า “คุณภาพการศึกษา” ของไทยแย่ลง
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรบริหารการศึกษา ม.กรุงเทพธนบุรี เดินหน้าฟ้องร้องศาล หลังได้รับผลกระทบคุรุสภาไม่รับรองใบประกอบวิชาชีพให้ เพราะมหาวิทยาลัยรับคนเกินแผนการสอนที่แจ้งไว้ และสภาวิทยาลัยไม่รับเรื่องร้องเรียน
เหตุดังกล่าวทำให้ สกอ.เข้าตรวจสอบมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ 9 มหาวิทยาลัยเอกชน พบ 98 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตรและนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน อาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบ คุณสมบัติไม่ตรง และรับนักศึกษาเกิน
หลัง สกอ.ตรวจสอบ ล่าสุดมีอีก 2 หลักสูตรนอกที่ตั้งเปิดสอน ซึ่งจะเตือนให้แก้ไขก่อนเกิดผลเสียกับเด็ก ที่เหลือให้ปิดและงดรับนักศึกษา ขณะที่ 20 หลักสูตรในที่ตั้ง มีเพียง 5 หลักสูตรที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะบางหลักสูตรไม่ผ่านเกณฑ์ของสภาวิชาชีพ
การศึกษาไทยน่าห่วงมีหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานมาก เน้นจบง่าย แต่จ่ายเยอะ ต้นตอเกิดจากให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยรัฐเปิดหลักสูตรแข่งเอกชนเพื่อหารายได้ ทำให้เอกชนรับนักศึกษาจำนวนมาก จนลืมคุณภาพ ขณะที่หน่วยงานกำกับไม่ใช้กฎหมายเข้มงวด แนะ สกอ.แก้ปัญหา หากไม่ได้มาตรฐานควรสั่งปิด ตั้งศูนย์รับร้องเรียนจากนักศึกษา ชี้ช่องทางฟ้องร้องคดี กระทรวงศึกษาฯ ควรกำหนดหน้าที่มหาวิทยาลัยชัดเจน ไม่ปล่อยอิสระเกินไป
ล่าสุด สตง.ตรวจสอบหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษาพบไม่มีมาตรฐาน 2,030 หลักสูตร จากเกือบ 9,000 หลักสูตร ขณะที่สถาบันที่เปิดหลักสูตรศึกษาศาสตร์ รับนักศึกษาเกินกว่าแผน 31 แห่ง 63 หลักสูตร สะท้อนปัญหาคุณภาพการศึกษาและค่านิยมการเรียนต่อเพื่อปรับวุฒิ แต่ไม่เน้นคุณภาพ.-สำนักข่าวไทย