กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – ปตท.รับมือตลาดแอลเอ็นจีเปลี่ยนแปลงเป็นของผู้ขายใน 5 ปีข้างหน้า เร่งเจรจาสัญญาระยะกลาง-ยาว ปรับพอร์ตให้เหมาะสม เดินหน้าตั้งบริษัทร่วมทุน ปตท.สผ.ลงทุนธุรกิจขั้นกลางแอลเอ็นจีให้เสร็จสิ้นปีนี้รับมือราคาผันผวน
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) ระบุว่า ปตท.เร่งเจรจาทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ระยะกลางถึงยาวให้ได้ในระดับประมาณร้อยละ 70 จากปีนี้ที่คาดว่าจะนำเข้าแอลเอ็นจีตามสัญญาระยะยาวประมาณร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าจากตลาดจร (spot) หลังมองตลาดแอลเอ็นจียังเป็นตลาดของผู้ซื้อในช่วง 5 ปีนี้ และหลังจากนั้นคาดว่าตลาดจะเป็นของผู้ขาย และเพื่อรองรับความผันผวนของราคาก๊าซระยะยาว ปตท.และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.จะจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน เพื่อเข้าไปลงทุนในธุรกิจขั้นกลางของแอลเอ็นจีนับเป็นการสร้างห่วงโซ่ธุรกิจ ( Value Chain ) และ ปตท.ยังมองโอกาสการสร้าง Value Chain ในธุรกิจไฟฟ้าด้วย โดยประสานงานใกล้ชิดกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีแหล่งเชื้อเพลิงทั้งในส่วนของก๊าซฯ และถ่านหิน
ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุนกับ ปตท.สผ.จะเจรจาเพื่อขอเข้าร่วมลงทุนในแหล่งแอลเอ็นจีและร่วมทุนโครงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติให้มีสถานะเป็นของเหลว (Liquefaction) ด้วย ซึ่งปัจจุบันเจรจาอยู่กับหลายราย รวมถึงกลุ่มเชลล์ และบีพี รวมถึงแหล่งในประเทศโมซัมบิก ที่ปัจจุบัน ปตท.สผ. ร่วมลงทุนแอลเอ็นจี และ ปตท.มีแผนจะนำแอลเอ็นจีจากแหล่งนี้ ก็จะดูลู่ทางและเจรจาเพื่อร่วมทุนในการแปลงสภาพแอลเอ็นจี เป็นก๊าซฯ ก่อนนำออกจำหน่าย และในอนาคตจะนำไปสู่การทำ LNG Trading ซึ่งทั้ง ปตท.และปตท.สผ.ต่างมีเงินสดในมือแห่งละ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีศักยภาพที่จะรองรับการลงทุนดังกล่าวได้
“ความต้องการใช้แอลเอ็นจีของไทยจนสิ้นปี 2579 กระทรวงพลังงานคาดจะนำเข้า 34 ล้านตัน/ปี ทำให้ ปตท.มองเห็นถึงโอกาสสร้าง Value Chain เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างกำไรได้อย่างสม่ำเสมอของธุรกิจ และคาดว่าปีนี้ดีลการซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ของธุรกิจปิโตรเลียมน่าจะมีออกมามากขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มมีเสถียรภาพในระดับ 50-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล” นายวิรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการแยกก๊าซอีเทนจากแอลเอ็นจี ( Ethane Extraction) มูลค่าหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยชดเชยปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่จะลดลง ปัจจุบันมีการประสานงานกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ซึ่งเป็นผู้ใช้อีเทนในโรงงานปิโตรเคมีอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้
ทั้งนี้ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของตลาดโลกยังคงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและการที่หลายประเทศเริ่มมาใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 20 ปีข้างหน้าความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าอาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 24-25 จากร้อยละ 24 ในปัจจุบัน, ถ่านหิน ลดลงเหลือร้อยละ 24 จากร้อยละ 29-30 ในปัจจุบัน ,น้ำมัน เหลือร้อยละ 29 จาก ร้อยละ 32 ในขณะนี้ และพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นมาที่เกือบร้อยละ 10 จากร้อยละ 3-4 ในปัจจุบัน. – สำนักข่าวไทย