ทำเนียบฯ 21 เม.ย.-รองนายกฯ เผยประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้แต่ละหน่วยงานหามาตรการแก้ปัญหานั่งท้ายกระบะและแคปหลัง ยึดหลักปลอดภัยและสะดวก ไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่กดขี่หรือสร้างความลำบากใจให้เจ้าหน้าที่ คาดได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมสรรพสามิต กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และรับทราบรายงานจาก ปภ.ถึงมาตรการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2560 ว่า อุบัติเหตุในปีนี้ แตกต่างจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่พบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะ แต่ยังพบอุบัติเหตุจากรถยนต์ส่วนตัวและรถจักรยายนยนต์ โดยสาเหตุหลักคือเมาแล้วขับ แต่ไม่พบในกรณีที่บุคคลคาดเข็มขัดแล้วเสียชีวิตแต่อย่างใด มีเพียงบาดเจ็บเท่านั้น
“การประชุมวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการนั่งท้ายรถกระบะและแคปหลัง โดยจะยังคำสั่ง คสช.เดิมที่ประกาศใช้ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์อยู่ โดยในวันนี้ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณาตามข้อเสนอถึงมาตรการที่แต่ละฝ่ายเสนอมา ซึ่งจะมีการประชุมหารือถึงการวางข้อกำหนดอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าหลังจากนี้หากรัฐบาลจะมีมาตรการใดออกมา จะคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกของประชาชน หากเรื่องความปลอดภัยแต่ไม่สะดวก จะไม่ทำ แต่ก็จะไม่ปล่อยให้สะดวกจนลืมความปลอดภัย และเป็นภาระของประชาชนให้ถูกเจ้าหน้าที่กดขี่ รีดไถ และไม่สร้างความลำบากใจให้กับเจ้าหน้าที่ ขอยืนยันว่าจะไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ทั้งนี้ได้ฝากการบ้านให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาถึงปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในยานพาหนะ และจังหวัดต่าง ๆ ว่าสถิติที่ได้มามีความถูกต้องอย่างไร” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลรายงาน พบว่าอุบัติเหตุมาจากรถจักรยานยนต์ ถึงร้อยละ 50 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีทะเบียน อาจนำไปสู่ปัญหาการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทประกันในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และรถที่ไม่ทราบที่มาที่ไปอาจเป็นบ่อเกิดของเหตุอาชญากรรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องหารือและตั้งศูนย์แก้ปัญหาสร้างความรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนต่อไป โดยอาจมีการตั้งศูนย์ตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการใช้รถใช้ถนนได้อย่างถูกต้อง
“ทั้งนี้ สปท.ได้เสนอว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทห้างร้าน และองค์กรต่าง ๆ สักคนหนึ่ง ให้เป็นเหมือนกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางถนน ซึ่งคน ๆ นี้จะคอยไปฝึกอบรมและมาถ่ายทอดต่อ เป็นคนดูแลเก็บสถิติ และเป็นหูเป็นตาแทนรัฐ ดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในต่างประเทศก็มี ประเทศไทยก็น่าจะมี โดย รอง ผบ.ตร.จะไปเสนอต่อบริษัทต่าง ๆ ให้มีการตั้ง คล้าย ๆ กับมิสเตอร์เซฟตี้ และกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ก็น่าจะมี ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับที่ดีว่าน่าจะมีการตั้งศูนย์ดังกล่าวเช่นกัน” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย