กรุงเทพฯ10 เม.ย.-กกร.เร่งสรุปรายการสินค้าที่อาจถูกสหรัฐตอบโต้ทางการค้าให้กระทรวงพาณิชย์ทราบ
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กกร. ประจำเดือน เม.ย.60 ว่า ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า การประกาศคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Executive Orders) เรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งมีไทยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่ถูกระบุว่าเกินดุลกับสหรัฐฯ นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญแม้ไทยจะส่งไปเพียงร้อยละ 10 ของยอดการส่งออกในภาพรวมทั้งหมดก็ตาม เพราะการตอบโต้ของสหรัฐ อาจจะสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางการค้าและการลงทุนในระยะข้างหน้าได้ แม้ ณ ขณะนี้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนก็ตาม
โดยจากการประเมินผลกระทบในเบื้องต้นต่อไทยนั้น มีรายการสินค้าส่งออกที่อาจจะเข้าข่ายได้รับผลกระทบทางตรง อาทิ จากประเด็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (AD/CVD) รวมทั้งสินค้าส่งออกที่ไทยใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ อาจจะพิจารณาทบทวน ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า, กลุ่มอาหาร, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยในบางหมวดก็ยังอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตในกรณีที่ประเทศคู่ค้าอย่างญี่ปุ่นและจีนถูกตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐฯ ด้วย
อย่างไรก็ดี ขนาดของผลกระทบคงจะขึ้นอยู่กับระดับของมาตรการที่สหรัฐฯ จะนำออกมาใช้ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยขณะนี้ ส.อ.ท.หารือกับทีมของนายสมคิดด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ระหว่างรวบรวมรายการสินค้าที่มีแนวโน้มอาจได้รับผลกระทบเพื่อส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังเตรียมตัวด้วยการหาตลาดใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย และหากเรื่องใดที่รัฐบาลไทยดำเนินการ เป็นรูปธรรมและมีความพร้อมก็ให้ดำเนินการเชิงรุกโดยเชิญให้ฝ่ายสหรัฐเข้ามาตรวจสอบได้
นอกจากประเด็นด้านการค้ากับสหรัฐฯ แล้ว ยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในยุโรป หลังจากช่วงที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ จากการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และตลาดเริ่มไม่แน่ใจต่อการผลักดันนโยบายของนายทรัมป์ ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ดังกล่าว ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วในเดือนมีนาคม ซึ่งการออกมาตรการของ ธปท. น่าจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทไว้ได้บ้าง แต่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูง ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับค่าเงินบาทแข็งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.7 มากที่สุดในภูมิภาค แข็งค่ารองจากเงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่าร้อยละ 5.4 ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าร้อยละ 3.4 เงินริงกิต มาเลเซียแข็งค่าร้อยละ 1.2 เงินอินโดนีเซีย แข็งค่าร้อยละ 1.1 และเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7 อย่างไรก็ตาม เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดไม่ได้เป็นการแทรกแซงจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่ซีเรียและสถานการณ์เกาหลีเหนือล่าสุด ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังมีความไม่แน่นอน แต่ กกร. เห็นว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2560 โดยมีการใช้จ่ายของภาครัฐ การขยายตัวของการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนั้น กกร. จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไว้ที่ร้อยละ 3.5 – 4.0 และคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 1.0 – 3.0 ตามเดิม จากการที่กรมศุลกากรได้ตราพระราชบัญญัติศุลกากรขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานาน เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีการพัฒนาและขยายตัวมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยร่างพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. …. ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนตุลาคม 2560 โดยร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่มีสาระสำคัญที่ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ตัวอย่างเช่น การกำหนดความผิดต่างๆ และบทลงโทษสำหรับแต่ละความผิดให้เหมาะสมและทันสมัย ลดอัตราสินบนและเงินรางวัลลงมา และกำหนดสินบนเงินสูงสุดของสินบนและเงินรางวัล กำหนดระยะเวลาตรวจสอบและประเมินอากรย้อนหลังให้ชัดเจน กำหนดเรื่องการถ่ายลำและการผ่านแดนให้ชัดเจนเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Logistic hub ของภูมิภาค
นอกจากนี้ กกร. จะจัดสัมมนาเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจต่อร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในเดือนพฤษภาคม 2560-สำนักข่าวไทย