เจิ้งโจว, 22 มิ.ย. (ซินหัว) — สถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน เปิดเผยการค้นพบอาหารจีนดั้งเดิมอย่างจ้งจื่อหรือ “บ๊ะจ่าง” เป็นพวง ซึ่งมีอายุมากกว่า 2,000 ปี ณ สุสานโบราณที่ขุดพบในเมืองซิ่นหยาง
รายงานระบุว่าคณะนักโบราณคดีขุดพบหลุมศพของขุนนางรัฐฉู่โบราณในช่วงกลางยุครณรัฐหรือยุคจ้านกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และพบ “อาหารห่อใบไม้” ลักษณะคล้ายบ๊ะจ่างยัดไส้ธัญพืชในหลุมดังกล่าว จำนวน 40 ห่อ โดยบางส่วนมีสภาพเสียหายมาก
“อาหารห่อใบไม้” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10-15 เซนติเมตร ถูกห่อด้วยใบไม้กว้างและมัดด้วยเชือกหรือก้านไม้ โดยผลตรวจสอบผ่านกล้องจุลทรรศน์พบอาหารเหล่านี้ 39 จาก 40 ห่อ ถูกยัดด้วยข้าวดิบที่ยังมีเปลือกอยู่ ส่วนอีกห่อถูกยัดด้วยข้าวฟ่าง
คณะนักโบราณคดีระบุว่าใบไม้ที่ใช้ห่อเป็นใบจากพืชสกุลโอ๊ก (Quercus) ซึ่งสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติปัจจุบันในพื้นที่ทางตะวันตกและตอนใต้ของเหอหนานที่ห่อบ๊ะจ่างด้วยด้วยใบพืชสกุลดังกล่าว
หลานว่านลี่ นักโบราณคดีจากสถาบันฯ กล่าวว่าอาหารห่อใบไม้สอดไส้ธัญพืชเหล่านี้ถือเป็นบ๊ะจ่างเก่าแก่สุดที่นักโบราณคดีเคยค้นพบ เมื่อพิจารณาจากการค้นพบทางโบราณคดีและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ
อนึ่ง เทศกาลเรือมังกรหรือเทศกาลตวนอู่ เฉลิมฉลองในวันที่ 5 เดือน 5 ตามตามปฏิทินจันทรคติจีน โดยมีจ้งจื่อหรือบ๊ะจ่างเป็นอาหารสำคัญประจำเทศกาล- สำนักข่าวไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/366511_20230622
ขอบคุณภาพจาก Xinhua