ปักกิ่ง, 11 มิ.ย. (ซินหัว) — เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ช่วยนักโบราณคดีจีนประกอบร่างเครื่องสัมฤทธิ์โบราณเก่าแก่ที่พบในหลุมบูชายัญ 8 แห่ง ณ ซากโบราณซานซิงตุย ให้กลับคืนสู่หน้าตาที่เคยเป็นเมื่อราว 3,000 ปีก่อน
สถาบันวิจัยทางโบราณคดีและโบราณวัตถุมณฑลเสฉวนเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (10 มิ.ย.) ว่าหน้าตาฉบับสมบูรณ์ของเครื่องสัมฤทธิ์โบราณขนาดใหญ่ 2 ชิ้นได้สร้างความตื่นตะลึงให้เหล่านักโบราณคดีไม่น้อย
ถังเฟย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางโบราณคดีฯ ให้ความเห็นไว้ว่า หน้าตาดั้งเดิมของเครื่องสัมฤทธิ์เหล่านี้แปลกประหลาดและน่าตกตะลึกมากกว่าที่เขาคาดไว้ “มันเปี่ยมด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์”
เครื่องสัมฤทธิ์ทั้งสองชิ้นประกอบด้วยรูปปั้นสัมฤทธิ์ชายคุกเข่านั่งอยู่บนหลังสัตว์และเทิน “จุน” หรือภาชนะทรงคล้ายคนโทไว้บนศีรษะ ส่วนอีกชิ้นคือรูปปั้นเทวรูปเศียรคนเท้านกเทินจุนในท่ายกลำตัวขึ้นไปด้านหลังและเกาะอยู่บน “เหลย” หรือภาชนะบรรจุสุราสมัยโบราณ ซึ่งทั้งสองชิ้นล้วนประกอบขึ้นจากเศษซากที่กระจัดกระจายอยู่ในหลุมบูชายัญหลายหลุม
เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัยของโครงสร้างวัตถุ เจ้าหน้าที่จึงยังไม่สามารถประกอบชิ้นส่วนโบราณวัตถุเหล่านี้เข้าด้วยกันได้จริง ดังนั้นจึงใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การสแกน 3 มิติและแบบจำลอง 3 มิติ ในการคืนชีพหน้าตาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของสมบัติชาติเหล่านี้จนสำเร็จ
รูปปั้นสัมฤทธิ์ชายคุกเข่านั่งบนหลังสัตว์และเทินจุนนั้น สูง 1.589 เมตร แบ่งเป็นส่วนบน กลาง และล่าง ซึ่งเชื่อว่าสัตว์ที่เขาขี่อยู่นั้นเป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ข้อมูลระบุว่า ส่วนปากของจุนสัมฤทธิ์ถูกพบจากหลุมบูชายัญหมายเลข 2 รูปปั้นคนนั่งคุกเข่าเทินจุนพบจากหลุมบูชายัญหมายเลข 3 ขณะที่สัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาจากหลุมบูชายัญหมายเลข 8
สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในท่ายืดอกเชิดหัว เท้าทั้งสี่กำยำแข็งแรงดูน่าเกรงขาม บนหัวมีรูปปั้นคนสัมฤทธิ์ในอาภรณ์ที่สวยงามยืนอยู่ ส่วนรูปสัมฤทธิ์คนคุกเข่าตรงกลางนั้นมีลักษณะคิ้วหนาตาโต ใส่มงกุฎ ท่อนบนสวมเสื้อแขนยาวผ่ากลางลวดลายเมฆ ท่อนล่างสวมกระโปรงสั้นลายดวงตา สองแขนยกขึ้นไปด้านหน้าในระดับอก ส่วนบนเป็นจุนสามท่อนที่ถูกประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นมังกรและสัตว์แบบลอยตัว
点击浏览中文新闻 (คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาจีน) http://www.news.cn/politics/2023-06/10/c_1129684544.htm
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/363523_20230611
ขอบคุณภาพจาก Xinhua