ลาซา, 12 เม.ย. (ซินหัว) — สถาบันคุ้มครองวัตถุทางวัฒนธรรมเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานการค้นพบพระพุทธรูปแกะสลักจากช่วงยุคปลายศตวรรษที่ 8 จนถึงต้นศตวรรษที่ 9 จำนวน 10 องค์
รายงานระบุว่าคณะนักโบราณคดีค้นพบพระพุทธรูปเหล่านี้ที่มีลักษณะของอาณาจักรถู่โป (ราวปี 618-842) ของทิเบต บริเวณแหล่งหน้าผาแกะสลัก 3 แห่ง ในอำเภอหมางคางของเมืองชางตู
ชื่อเลี่ยชื่อเหริน เจ้าหน้าที่สถาบันฯ กล่าวว่าพระพุทธรูปที่ถูกแกะสลักอยู่บนหน้าผามีองค์ประกอบเฉพาะตัว และแสดงลักษณะอันหายาก อาทิ พระศากยมุนี และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา
“งานแกะสลักบนหน้าผาเหล่านี้มอบข้อมูลสำคัญแก่การวิจัยการกระจายตัวเชิงพื้นที่ การสืบสานศิลปะ และการเผยแพร่ลัทธิความเชื่อของพระพุทธรูปถู่โป” ชื่อเลี่ยชื่อเหรินกล่าว
อนึ่ง ทิเบตเริ่มต้นการสำรวจวัดถ้ำและรูปปั้นแกะสลักบนหน้าผาเมื่อเดือนธันวาคม 2020 โดยปัจจุบันมีการตรวจสอบถ้ำและรูปปั้นแกะสลักบนหน้าผา 277 รายการแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองวัตถุทางวัฒนธรรมหลักระดับชาติ 7 รายการ และการคุ้มครองวัตถุทางวัฒนธรรมระดับภูมิภาค 23 รายการ – สำนักข่าวซินหัว
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20230411/d939753bf1a74dc2a4c3d54984151c1c/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/351085_20230412
ขอบคุณภาพจาก Xinhua