กรุงเทพฯ 28 ก.ค. ดีป้า หนุน 10 ดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยผุดแพลตฟอร์มแก้ปัญหาเศษฐกิจ-สังคม หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ภายหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เยียวยาภาพรวมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดีป้า จึงทำโครงการสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยตามเทคโนโลยีเป้าหมายทั้ง 6 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร (AgTech) เทคโนโลยีเพื่อการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ (GovTech) เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech) เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) และเทคโนโลยีเพื่อการเพื่อการศึกษา (EdTech) ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการหางาน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสามารถหา พัฒนา และคัดกรองบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่ขาดแคลนบุคลากรในสายงานดังกล่าว และช่วยเหลือคนตกงานกว่า 400,000 คนจากวิกฤตเศรษฐกิจ และโควิด-19 เพิ่มความรู้และทักษะด้าน Hard Skill และ Soft Skill แก่แรงงานสายอาชีพ ควบคู่ไปกับการนำเสนอช่องทางเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลในสาขาต่าง ๆ อาทิ Coding, Machine Learning รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การสนับสนุนภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวตามพื้นที่เป้าหมาย เพื่อรองรับฐานวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล)
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ครั้งที่ 7/2563 มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนมาตรการเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund) จำนวน 10 โครงการที่จะเข้ามาสนองตอบปัจจัยต่าง ๆ ที่ ดีป้า พร้อมดำเนินการขับเคลื่อน ประกอบด้วย โครงการออนไลน์แพลตฟอร์มเพื่อการค้นหาและพัฒนาตนเองสู่อาชีพที่ใช่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลด้วยระบบ WE Space โดย บริษัท เอ็ดไวซอรี่จำกัด , โครงการ AUTOPAIR Sales Management Platform โดย บริษัท ออโต้แพร์ จำกัด, โครงการ FOXFOX โดย บริษัท ฟ็อกซ์ฟ็อกซ์ จำกัด, โครงการ Abi: แพลตฟอร์มวัดทักษะสำหรับสถานศึกษาและจัดหาบุคลากรสำหรับบริษัท โดย นายภีศเดชเพชรน้อย , โครงการ Quizmo (ควิซโม่) โดย นายพงศ์พันธ์ เหล่าเศรษฐานันท์ , โครงการเกมส์ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดย นายรักษิต ชุติภักดีวงศ์ , โครงการ MANA (มานะ) ระบบบริหารทีมงานออนไลน์ โดยบริษัท แอลเอฟฟินเทค จำกัด, โครงการ Container Truck Gate Automation โดย บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด , โครงการตลาดรวมสินค้าการเกษตรและอาหารแช่แข็งออนไลน์ โดย นายชารีฟ เด่นสุมิตร และโครงการพัฒนา และต่อยอด แพลตฟอร์มเช่ารถ Rent Connected โดยใช้ Artificial Intelligence และ Machine Learning เข้ามาช่วย โดย บริษัท เร้นท์ คอนเนคเต็ด จำกัด -สำนักข่าวไทย