“ไบเดน” จะไม่ร่วมประชุมโลกร้อนที่ดูไบ

วอชิงตัน 27 พ.ย.- ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องโลกร้อนที่กำลังจะเปิดฉากในสัปดาห์นี้ ทั้งที่การเข้าร่วมของเขาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาสร้างความหวังว่าสหรัฐจะเป็นแกนนำในเรื่องนี้ ทำเนียบขาวสหรัฐเผยแพร่ตารางงานของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ทั้งคู่ไม่มีกำหนดการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือคอป 28 (COP 28) ที่รัฐดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่ขอสงวนนามยืนยันว่า ประธานาธิบดีไบเดนไม่มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่จะเปิดฉากในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ หรือการประชุมนอกรอบก่อนการประชุมจะปิดฉากในวันที่ 12 ธันวาคม และยังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปแทนหรือไม่ ขณะที่นายจอห์น แคร์รี ทูตพิเศษของประธานาธิบดีด้านสภาพภูมิอากาศคนแรกของสหรัฐจะเป็นหัวหน้าคณะเจรจาของสหรัฐในการประชุมคอป 28 เจ้าหน้าที่สหรัฐไม่ได้อธิบายเหตุผลที่ไบเดนไม่เข้าร่วมการประชุม แต่ความสนใจหลักของเขาในเวลานี้อยู่ที่สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม และการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 ทั้งนี้ที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐไม่มีธรรมเนียมที่ต้องเข้าร่วมการประชุมโลกร้อนซึ่งจัดขึ้นทุกปีมาตั้งแต่ปี 2538 แต่ไบเดนได้เข้าร่วมการประชุมในปี 2564 ที่กลาสโกวของสกอตแลนด์ และ 2565 ที่ชาร์ม เอล-ชีคของอียิปต์ และให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพภูมิอากาศในการดำเนินนโยบายในประเทศ.-สำนักข่าวไทย

เลขาฯ ยูเอ็นเตือนวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติกล่าววานนี้เตือนถึงบรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า วิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเสมือนการเปิดประตูไปสู่นรก

บราซิลเผชิญคลื่นความร้อนในฤดูหนาว

เซาเปาลู 24 ส.ค.- บราซิลกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนในขณะที่ยังอยู่ในช่วงกลางฤดูหนาว อุณหภูมิในนครเซา เปาลู เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศใกล้ทำลายสถิติสูงสุดของเดือนสิงหาคมและของปี 2566 สถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของบราซิลแจ้งว่า นครเซา เปาลูที่มีประชากร 11 ล้าน 5 แสนคน มากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา มีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 10 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนสิงหาคม โดยขึ้นไปแตะ 32.3 องศาเซลเซียสเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ใกล้แตะสถิติ 32.5 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของบราซิล และใกล้แตะสถิติอุณหภูมิสูงสุดของเดือนสิงหาคมที่ 33.1 องศาเซลเซียส ซึ่งวัดได้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2495 และ 2498 สถาบันฯ เตือนว่า อุณหภูมิในวันนี้อาจสูงทำลายสถิติของเดือนสิงหาคมและของปี 2566 ทางการรัฐเซา เปาลูที่มีนครเซา เปาลูเป็นเมืองเอกได้ประกาศรายชื่อพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่องไฟป่า และเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำจากอากาศที่แล้งและความชื้นต่ำ ขณะนี้ซีกโลกใต้กำลังเป็นฤดูหนาว ตรงข้ามกับยุโรปที่กำลังเป็นฤดูร้อน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า บราซิลมีอากาศร้อนผิดปกติในเดือนนี้เพราะมวลอากาศร้อนและแล้งขนาดใหญ่แผ่ปกคลุมทั่วประเทศ อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญผสมกับภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมของคน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อากาศที่ร้อนขึ้นในหลายประเทศแม้แต่ในฤดูหนาวของซีกโลกใต้อาจกลายเป็นปรากฏการณ์ถาวรทั่วโลก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ผู้คนยังคงละเลยสัญญาณเตือนเหล่านี้.-สำนักข่าวไทย

ไทยเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” หวั่นกระทบสุขภาพประชาชน

กรมอนามัย เผยยูเอ็นระบุยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว เข้าสู่ยุคโลกเดือดแล้ว โดยในไทยพบปี 66 มีแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาฯ ที่ จ.ตาก เมื่อเดือน เม.ย. แนะประชาชนและกลุ่มเสี่ยงปรับตัวลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ชี้สหรัฐ-จีนต้องปรับความร่วมมือใหม่เรื่องโลกร้อน

ปักกิ่ง 18 ก.ค.- นายจอห์น แคร์รี ทูตพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐด้านสภาพภูมิอากาศบอกกับจีนว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ และต้องการความร่วมมือแบบใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีน นายแคร์รีกล่าวในการพบกับนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศกลาง ซึ่งเป็นตำแหน่งนักการทูตสูงสุดของจีน ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งวันนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องระดับโลก ไม่ใช่เรื่องทวิภาคี จึงจำเป็นต้องมีความเป็นผู้นำระดับโลก เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งโลกมุ่งหวังและต้องการอย่างยิ่ง สหรัฐหวังว่า การหารือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการให้คำนิยามใหม่เรื่องความร่วมมือและศักยภาพในการแก้ไขความแตกต่างระหว่างกันที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับว่ามีอยู่จริง ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนว่า หากตั้งใจจริงก็จะสามารถหาทางออกและหนทางที่จะแก้ไขความท้าทายเหล่านี้ได้   ด้านนายหวัง ซึ่งเรียกนายแคร์รีว่าเพื่อนเก่า ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐจำเป็นต้องแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ และยั่งยืน ส่วนความร่วมมือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่าง 2 ประเทศกำลังมีความคืบหน้า จึงต้องการการสนับสนุนจากประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ การหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2565 หลังจากนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในเวลานั้นทำให้จีนไม่พอใจจากการแวะเยือนไต้หวันที่จีนถือว่าเป็นดินแดนของจีน.-สำนักข่าวไทย

ทูตสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฟื้นเรื่องลดปล่อยก๊าซกับจีน

ทูตพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐ ด้านสภาพภูมิอากาศ หารือนาน 4 ชั่วโมง กับเจ้าหน้าที่จีนในวันนี้ เพื่อฟื้นวิถีทางการทูตที่หยุดชะงักไปเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ซีกโลกเหนือเสี่ยงร้อนทะลุสถิติ

โรม 17 ก.ค.- หลายประเทศในซีกโลกเหนือกำลังเผชิญกับอากาศร้อนจัดที่เสี่ยงจะทำลายสถิติ และทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้น เนื่องจากผลจากภาวะโลกร้อนเริ่มปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักงานอวกาศยุโรปแจ้งว่า ยุโรปอาจมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้ เพราะพยากรณ์ว่าเกาะซิซิลีและเกาะซาร์ดิเนียของอิตาลีจะมีอุณหภูมิสูงถึง 48 องศาเซลเซียส นักบวชคนหนึ่งเผยที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรมว่า อากาศร้อนกว่าบ้านเกิดของเขาในสาธารณรัฐประชาธิปไตคองโกที่อยู่ทางตอนกลางของทวีปแอฟริกาเสียอีก คาดว่าอุณหภูมิในกรุงโรมจะแตะ 40 องศาเซลเซียสในวันนี้ และจะแตะ 42-43 องศาเซลเซียสในวันอังคาร ลบสถิติ 40.5 องศาเซลเซียสเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ส่วนที่ญี่ปุ่น ทางการต้องแจ้งเตือนประชาชนใน 20 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดให้ระวังฮีตสโตรกหรือโรคลมแดด กรุงโตเกียวและหลายพื้นที่มีอุณหถูมิใกล้แตะ 40 องศาเซลเซียส และอาจลบสถิติ 41.8 องศาเซลเซียสที่เคยวัดได้ที่เมืองคุมากายะ จังหวัดไซตามะเมื่อปี 2561 ด้านสำนักอุตุนิยมวิทยาสหรัฐแจ้งเตือนว่า คลื่นความร้อนกินวงกว้างในรัฐทางใต้และทางตะวันตกจะถึงจุดสูงสุด กระทบต่อประชาชนมากกว่า 80 ล้านคน หุบเขามรณะ (Death Valley) ในรัฐแคลิฟอร์เนียร้อนใกล้แตะสถิติ 52 องศาเซลเซียสเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ ขณะที่พื้นที่ทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังเกิดไฟป่าหลายจุด.-สำนักข่าวไทย

3 ก.ค. เป็นวันที่โลกร้อนเป็นประวัติการณ์

ปารีส 5 ก.ค.- ข้อมูลการวัดเบื้องต้นของนักอุตุนิยมวิทยาสหรัฐชี้ว่า วันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา เนื่องจากมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 17 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ศูนย์เพื่อการทำนายสภาพแวดล้อมแห่งชาติ สังกัดสำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติหรือโนอา (NOAA) ของสหรัฐเผยว่า อุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวโลกรายวันเฉลี่ยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 17.01 องศาเซลเซียส ลบสถิติ 16.92 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 จึงถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการเก็บบันทึกข้อมูลในปี 2522 อย่างไรก็ดี ตัวเลขอุณหภูมินี้ยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยการวัดอื่น ๆ ปกติแล้วอุณหภูมิโลกเฉลี่ยมักจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม แต่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ สำนักงานบริการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรปหรืออียูระบุว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยถือว่าสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยืนยันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า ปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนีโญเริ่มเกิดขึ้นแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิก และน่าจะทำให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเดินหน้าสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 ขณะที่การทำกิจกรรมของมนุษย์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนราวปีละ 40,000 ตัน ต่อไป ส่วนใหญ่เป็นการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล.-สำนักข่าวไทย

ผู้นำฝรั่งเศสเปิดประชุมด้านการเงินโลกเพื่อรับมือโลกร้อน

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เปิดการประชุมสุดยอดว่าด้วยการออกจากกรอบความคิดเดิมในเรื่องระบบการเงินของโลก โดยเขากล่าวต่อบรรดาผู้นำโลกว่า ไม่ควรมีประเทศใดต้องเลือกระหว่างการแก้ไขปัญหาความยากจน กับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

นักวิจัยชี้น้ำแข็งขั้วโลกอาจละลายหมดในอีก 7 ปีข้างหน้า

ทีมนักวิจัย เผยน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกอาจละลายหายไปในช่วงฤดูร้อนปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า หากสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น

1 2 3 4 5 11
...