U.N. Syria envoy Geir Pedersen met with Syria's de facto leader Ahmad al-Sharaa

หัวหน้ากบฏซีเรียหารือทูตยูเอ็น

ดามัสกัส 16 ธ.ค.- นายโมฮัมเหม็ด อัล-โจลานี ผู้นำโดยพฤตินัยของซีเรียพบหารือกับทูตพิเศษสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรื่องซีเรียที่กรุงดามัสกัสเมื่อวานนี้ นายอัล-โจลานี ผู้นำกองกำลังเอชทีเอส (HTS) ซึ่งเป็นแกนนำของกองกำลังกบฏโค่นล้มรัฐบาลซีเรีย ได้พบกับนายกายร์ เพเดอเซน ทูตพิเศษของยูเอ็นเรื่องซีเรีย เพื่อหารือถึงการฟื้นฟูและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวซีเรีย หลังจากการสิ้นสุดอำนาจรัฐบาลเผด็จการของนายบาชาร์ อัล-อัดซาส ที่ได้หลบหนีไปยังรัสเซีย กองบัญชาการกลางที่ปกครองซีเรียอยู่ในขณะนี้ออกถ้อยแถลงว่า นายอาหมัด อัล-ชารา หรือที่ใช้ชื่อขณะเป็นสมาชิกกลุ่มกบฏว่า อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-โจลานี ได้หารือกับนายเพเดอเซนว่า จำเป็นต้องทบทวนแผนการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอสซี ร่างไว้ให้แก่ซีเรียในปี 2558 หรือที่เรียกว่า มติยูเอ็นเอสซีที่ 2254 มติดังกล่าวเรียกร้องให้มีกระบวนการที่มีซีเรียเป็นแกนนำและยูเอ็นเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการตั้งรัฐบาลที่ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายใน 6 เดือน และกำหนดตารางสำหรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ก่อนนี้ทูตพิเศษยูเอ็นได้เรียกร้องนานาชาติให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวซีเรีย พร้อมกับเตือนว่าในช่วงเริ่มต้นใหม่ของซีเรียเช่นนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมาก ต้องให้ชาวซีเรียทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และต้องให้องค์กรหน่วยงานของรัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย.-820(814).-สำนักข่าวไทย

เมียนมาตำหนิยูเอ็นกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชนข้างเดียว

ย่างกุ้ง 9 เม.ย.- รัฐบาลทหารเมียนมาตำหนิสหประชาชาติหรือยูเอ็นในวันนี้ว่า กล่าวหาเพียงข้างเดียวเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา และไม่ได้แจ้งให้เมียนมาทราบอย่างเป็นทางการเรื่องแต่งตั้งทูตพิเศษยูเอ็นด้านเมียนมาคนใหม่ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาของทางการเมียนมารายงานวันนี้อ้างแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศว่า มติของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติหรือโอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) เป็นการกล่าวหาที่ไร้มูลและกล่าวหาเพียงข้างเดียว ดังนั้นเมียนมาจึงไม่ยอมรับมตินี้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ยูเอ็นยังไม่สื่อสารอย่างเป็นทางการกับเมียนมาเรื่องแต่งตั้งทูตพิเศษยูเอ็นด้านเมียนมาคนใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน โอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่ากลัวและเป็นระบบในเมียนมา พร้อมกับวิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลทหารเมียนมาขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่า ทำให้วิกฤตที่ทำให้คนมากกว่า 2 ล้าน 5 แสนคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นเลวร้ายลงไปอีก ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายนนายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นแต่งตั้งนางจูลี บิชอป อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเป็นทูตพิเศษเลขาธิการยูเอ็นด้านเมียนมา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างลงนับตั้งแต่นางโนลีน เฮย์เซอร์ นักสังคมวิทยาชาวสิงคโปร์ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ครบวาระเมื่อเดือนมิถุนายน 2566.-814.-สำนักข่าวไทย

ทูตพิเศษอาเซียนคนใหม่ไปพบผู้นำเมียนมา

เนปิดอว์ 11 ม.ค.-สื่อทางการเมียนมารายงานวันนี้ว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาได้ให้การต้อนรับทูตพิเศษอาเซียนคนใหม่ และหารือเรื่องความพยายามของเมียนมาในการสร้างหลักประกันให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพของประเทศ หนังสือพิมพ์โกลบอลไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ประธานประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้การต้อนรับนายอาลุนแก้ว กิตติคุน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของ สปป.ลาวในฐานะทูตพิเศษอาซียนคนใหม่ เนื่องจาก สปป.ลาวรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้  ทั้ง 2 ได้หารือเรื่องความพยายามของรัฐบาลเมียนมาในการสร้างหลักประกันให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพของเมียนมาและความปรองดองแห่งชาติ ผู้นำเมียนมากล่าวว่า รัฐบาลกำลังปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการของอาเซียนที่ปรับให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของสภาบริหารแห่งรัฐ เมียนมาเกิดเหตุรุนแรงอย่างไม่หยุดหย่อน นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และแทบไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติที่อาเซียนและเมียนมาตกลงกันในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ล่าสุดสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มพร้อมใจกันโจมตีกองทัพด้วยการยึดที่ตั้งทางทหารและเมืองการค้าสำคัญบริเวณพรมแดนติดกับจีน.-814.-สำนักข่าวไทย

ซูดานประกาศให้ทูตพิเศษยูเอ็นเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา”

คาร์ทูม 9 มิ.ย.- รัฐบาลซูดานประกาศให้ทูตพิเศษของสหประชาชาติหรือยูเอ็น เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา กระทรวงต่างประเทศซูดานแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นว่า รัฐบาลซูดานได้แจ้งไปยังนายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นแล้วว่า ซูดานได้ประกาศให้นายโฟลเกอร์ แพร์ธีส ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการยูเอ็นเรื่องซูดาน เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนานับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป การประกาศนี้มีขึ้นหลังจากนายพลอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์มาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดานส่งหนังสือถึงยูเอ็นเมื่อเดือนพฤษภาคม กล่าวโทษนายแพร์ธีสว่า ทำให้การสู้รบระหว่างกองทัพกับกองกำลังกึ่งทหารที่ดำเนินมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายนทวีความรุนแรง และไม่เคารพอธิปไตยของซูดาน จึงขอให้ยูเอ็นปลดจากตำแหน่ง นายแพร์ธีส ชาวเยอรมัน วัย 65 ปี และคณะช่วยเหลือการเปลี่ยนถ่ายอย่างบูรณาการในซูดานของยูเอ็น (UNITAMS) ตกเป็นเป้าโจมตีของกองทัพและผู้ประท้วงในซูดานมาตั้งแต่ปลายปี 2565 ว่า เป็นต่างชาติแทรกแซงซูดาน ขณะนี้เขาปฏิบัติภารกิจอยู่ในกรุงแอดดิสอาบาบาของเอธิโอเปีย คณะช่วยเหลือฯ ตั้งขึ้นในปี 2563 เพื่อช่วยเหลือซูดานเปลี่ยนถ่ายการปกครอง หลังจากประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ ที่ผูกขาดปกครองมาตั้งแต่ปี 2532 ถูกโค่นอำนาจในปี 2562 ที่ผ่านมาคณะช่วยเหลือฯ จะได้รับการต่ออายุเป็นรายปี แต่สัปดาห์ที่แล้วคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้ลงมติต่ออายุไปอีก 6 เดือนเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย

ยูเอ็นตกใจที่ซูดานขอให้ปลดทูตพิเศษ

นิวยอร์ก 27 พ.ค.- เลขาธิการสหประชาชาติหรือยูเอ็นตกใจที่ผู้บัญชาการกองทัพซูดานขอให้ปลดทูตพิเศษด้านซูดาน โฆษกยูเอ็นแถลงเมื่อเย็นวันศุกร์ตามเวลานิวยอร์กของสหรัฐว่า นายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นมีความภูมิใจในผลงานของนายโฟลก์เกอร์ แพร์เธส ทูตพิเศษด้านซูดานของเลขาธิการยูเอ็น และมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในตัวเขา จึงรู้สึกตกใจที่ได้รับจดหมายจากนายพลอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์มาน ผู้บัญชากองทัพซูดานที่ขอให้ปลดนายแพร์เธส นายแพร์เธสและคณะทูตพิเศษในซูดานถูกผู้สนับสนุนกองทัพและผู้เคร่งศาสนาอิสลามประท้วงอยู่หลายครั้ง โดยกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ นายพลบูร์มานกำลังทำสงครามกับนายพลโมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดาโกล ผู้บัญชาการกองหนุนเคลื่อนที่เร็วซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังหยุดยิงเป็นวันที่ 5 จากทั้งหมด 1 สัปดาห์ที่สหรัฐและซาอุดีอาระเบียเป็นคนกลางเจรจา และมักกล่าวหาว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงหยุดยิง สัปดาห์ที่แล้วนายพลบูร์มานได้สั่งปลดนายพลดาโกลออกจากตำแหน่งรองประธานสภาอธิปไตยเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทำหน้าที่เหมือนรัฐบาลชั่วคราวของซูดาน และได้แต่งตั้งผู้สนับสนุนสายแข็งกร้าวให้ดำรงตำแหน่งใกล้ชิด ล่าสุดกระทรวงกลาโหมซูดานประกาศเมื่อวันศุกร์ให้ทหารเกษียณราชการและผู้ที่สามารถจับอาวุธได้ให้ไปรายงานตัวต่อหน่วยงานทหารที่ใกล้ที่สุดแล้วจับอาวุธเพื่อปกป้องตนเอง ครอบครัว และเพื่อนบ้าน แต่ได้แก้ไขประกาศในเวลาต่อมาว่า เรียกเฉพาะทหารกองเกินและทหารเกษียณราชการเท่านั้น สงครามในซูดานที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนทำให้มีคนล้มตายแล้วไม่ต่ำกว่า 18,000 คนตามข้อมูลของโครงการข้อมูลสถานที่และเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ (Armed Conflict Location and Event Data Project) ขณะที่ยูเอ็นประเมินว่า มีคนพลัดถิ่นในซูดานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน และอพยพหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านราว 300,000 […]

ทูตจีนบอกยูเครนว่าไม่มี “ยาครอบจักรวาล” ที่จะยุติสงคราม

ปักกิ่ง 18 พ.ค.- นายหลี่ ฮุย ทูตพิเศษของจีนย้ำข้อเรียกร้องให้ยูเครนและรัสเซียเปิดการเจรจาเพื่อยุติสงคราม โดยบอกกับยูเครนว่า ไม่มียาครอบจักรวาลที่จะแก้วิกฤตยูเครนได้ กระทรวงต่างประเทศจีนแถลงวันนี้ว่า นายหลี่ ทูตพิเศษด้านกิจการยูเรเชียของจีนกล่าวระหว่างพบกับนายดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนและเจ้าหน้าที่ยูเครนหลายคนระหว่างเยือนเมื่อวันอังคารและวันพุธว่า ไม่มียาครอบจักรวาลที่จะแก้ไขวิกฤตยูเครนได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเริ่มที่ตัวเอง ต้องสร้างความไว้วางใจร่วมกัน และสร้างสภาพการณ์ที่จะยุติสงครามเพื่อเปิดการเจรจา ส่วนจีนจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือยูเครนต่อไปด้วยศักยภาพที่สามารถทำได้ นายหลี่กำลังตระเวนเยือนยุโรปเพื่อนำเสนอข้อเสนอของจีนเรื่องยุติสงครามยูเครน เขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของจีนที่เยือนยูเครน นับจากรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้สนทนาทางโทรศัพท์เป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนเมื่อเดือนเมษายน 2566 หลังจากพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียที่กรุงมอสโกเมื่อเดือนมีนาคม ชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตรยูเครนวิจารณ์ผู้นำจีนที่ไม่ยอมประณามรัสเซียเรื่องรุกรานยูเครน และยังรักษาความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับรัสเซีย ทั้งที่รัสเซียกำลังถูกนานาชาติโดดเดี่ยว.-สำนักข่าวไทย

จีนจะส่งทูตพิเศษตระเวนเยือนยูเครน ยุโรป รัสเซีย

จีนจะส่งทูตพิเศษไปเยือนยูเครน ยุโรป และรัสเซีย ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของจีนที่ไปเยือนยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากทำสงครามในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ทูตพิเศษยูเอ็นเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรก

สหประชาชาติ 16 ส.ค.- นางโนลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรื่องเมียนมาเดินทางเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน โฆษกยูเอ็นแถลงว่า นางเฮย์เซอร์จะมุ่งแก้ไขสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงและความกังวลเร่งด่วนในเมียนมา รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในอำนาจของเธอ หลังจากที่ได้หารืออย่างถี่ถ้วนกับแกนนำจากทุกพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ไม่ได้เปิดเผยว่า เธอจะเข้าพบผู้นำกองทัพเมียนมาหรือพบนางออง ซาน ซู จี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจตามที่ยูเอ็นเรียกร้องมานานหรือไม่ ทูตพิเศษยูเอ็นเรื่องเมียนมาไปเยือนเมียนมาหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นหรือยูเอ็นเอสซี (UNSC) เรียกร้องครั้งล่าสุดให้เมียนมายุติความรุนแรงในทุกรูปแบบและเปิดทางให้แก่การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน นายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาในฐานะทูตพิเศษของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเรื่องเมียนมาเตือนว่า การที่เมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 คน เป็นอุปสรรคต่อความพยายามของประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาที่จะช่วยฟื้นฟูสันติภาพและความเป็นปรกติในเมียนมา หากมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอีก อาเซียนจำเป็นต้องทบทวนว่าจะดำเนินการกับเมียนมาอย่างไรต่อไป.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาแจ้งทูตอาเซียนเรื่องไม่ให้พบซู จี

พนมเปญ 23 มี.ค.- ทูตพิเศษว่าด้วยเรื่องเมียนมาของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเผยว่า ได้ขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ความอดกลั้น และได้รับแจ้งจากผู้นำทหารเมียนมาว่า จะไม่ได้พบกับนางออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำพลเรือนในระหว่างที่เธอกำลังถูกไต่สวน นายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาในฐานะทูตพิเศษอาเซียน เผยกับสื่อขณะเดินทางกลับมาถึงกัมพูชาในวันนี้ว่า เขาได้พยายามหาทางให้เมียนมาปล่อยตัวนักโทษหลายคน รวมถึงนายฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย และได้รับคำตอบจาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาว่า จะพิจารณาคำขอพบนางซู จี และนักโทษคนอื่น ๆ ในภายหลัง นายปรัก สุคน กล่าวว่า เข้าใจดีที่มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่เขาไปเยือนเมียนมาเท่ากับสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา และรู้ว่ามีการคาดหวังว่าการเยือนนี้จะนำมาซึ่งการหยุดยิง หวังว่าเขาจะได้พบกับทุกฝ่ายในเมียนมา และหวังว่าเมียนมาจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เขามองว่าการเยือน 2 วันที่ผ่านมาถือเป็นก้าวที่ดีต่อการหาทางแก้ไขวิกฤตเมียนมา อย่างไรก็ดี ประเด็นเมียนมาเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการแก้ไข และไม่สามารถลุล่วงได้ในช่วงเวลาที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปีนี้.-สำนักข่าวไทย

ทูตพิเศษอาเซียนจะเยือนเมียนมา 20-23 มี.ค.นี้

พนมเปญ 4 มี.ค.- กัมพูชาแจ้งว่า ทูตพิเศษเรื่องเมียนมาของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจะเดินทางเยือนเมียนมาระหว่างวันที่ 20-23 มีนาคมนี้ หวังริเริ่มกระบวนการสันติภาพ เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดจากการรัฐประหารเมื่อหนึ่งปีก่อน โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาแจ้งผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยืนยันข่าวนายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาในฐานะทูตพิเศษของอาเซียนจะเยือนเมียนมา โดยมีกำหนดเบื้องต้นเป็นวันที่ 20-23 มีนาคม และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมการ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเรื่องบุคคลที่นายปรักจะเข้าพบ นายปรักเคยเรียกร้องเมื่อเดือนก่อนให้นายทหารเมียนมาอนุญาตให้เขาพบกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในเมียนมา รวมถึงฝ่ายต่อต้านที่ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มนอกกฎหมายด้วย รัฐบาลทหารเมียนมากล่าวหาสื่อตะวันตกเมื่อวันจันทร์ว่า มีอคติในการรายงานข่าวเหตุการณ์ในเมียนมา และยืนยันว่ารัฐบาลกำลังหาทางปกป้องประชาชนจากกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งได้ปล่อยตัวผู้ประท้วงไปแล้วมากกว่า 48,000 คน ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า มีพลเรือนจำนวนมากถูกจับกุม ทำร้าย ทรมาน และสังหาร ขณะที่สหประชาชาติระบุว่า ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้มีผู้พลัดถิ่นแล้วมากกว่า 300,000 คน.-สำนักข่าวไทย

ทูตพิเศษอาเซียนเผยเมียนมารับข้อเสนอหยุดยิง

นายเออร์วาน ยูซอฟ ทูตพิเศษสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรื่องเมียนมาเผยว่า รัฐบาลเมียนมาตอบรับข้อเสนอให้ทุกฝ่ายหยุดยิงเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อเปิดทางให้แก่การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ผู้นำเมียนมารับปากเลือกตั้ง-ร่วมมือกับอาเซียน

เนปิดอว์ 1 ส.ค.- พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมารับปากว่า จะจัดการเลือกตั้งใหม่แบบมีหลายพรรคการเมือง และรัฐบาลของเขาพร้อมทำงานร่วมกับทูตพิเศษที่เสนอชื่อโดยสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายแถลงทางโทรทัศน์ในวันนี้ หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า เมียนมาพร้อมทำงานตามความร่วมมือกับอาเซียนภายในกรอบของอาเซียน รวมถึงการเจรจากับทูตพิเศษอาเซียนในเมียนมา ผู้นำเมียนมากล่าวเรื่องนี้ก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาจะประชุมกันในวันจันทร์ ที่ประชุมคาดหวังว่า จะสามารถตกลงเลือกผู้ทำหน้าที่ทูตพิเศษ ยุติเหตุรุนแรงและส่งเสริมการเจรจาระหว่างกองทัพกับฝ่ายต่อต้านในเมียนมา กลุ่มสิทธิอ้างว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารมีคนถูกสังหารกว่า 900 คน และจับกุมหลายพันคน ธนาคารโลกออกรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมเตือนว่า ผลจากการรัฐประหารและโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาด อาจทำให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวมากถึงร้อยละ 18 ในปีนี้ และมีคนยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมียนมามียอดติดเชื้อสะสมกว่า 299,100 คน เสียชีวิตกว่า 9,300 คน.-สำนักข่าวไทย

1 2
...