เอฟดีเอสหรัฐเตือนอย่าทำตามชาเลนจ์ “ต้มไก่กับยาแก้หวัด”

วอชิงตัน 21 ก.ย. – สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ ประกาศเตือนผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียที่แห่ทำคลิปในชาเลนจ์ต้มไก่กับยาแก้หวัดชนิดน้ำ หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไนควิล ชิคเกน ชาเลนจ์’ (NyQuil Chicken Challenge) เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง เอฟดีเอระบุในประกาศแจ้งเตือนว่า ขณะนี้มีผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียจำนวนมากที่แห่ทำคลิปในชาเลนจ์ต้มไก่กับยาแก้หวัดชนิดน้ำ หรือไนควิล (Nyquil) ซึ่งเป็นยาน้ำรักษาโรคหวัดและอาการแพ้ การกระทำในลักษณะนี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรงแม้ไม่ได้รับประทานไก่ เนื่องจากการต้มยาแก้หวัดชนิดน้ำจะทำให้ยาเข้มข้นมากขึ้นและมีคุณสมบัติที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการสูดดมยาน้ำแก้หวัดชนิดน้ำที่ต้มอยู่อาจทำให้ร่างกายได้รับปริมาณยาในระดับที่มากจนเกินไปและอาจส่งผลเสียต่อปอดโดยไม่รู้ตัว เอฟดีเอยังเตือนว่า เทรนด์ที่เกิดขึ้นในสื่อโซเชียลมีเดียเป็นผลมาจากแรงกดดันจากคนรอบข้างที่นำยาที่ซื้อขายกันโดยไม่ต้องมีใบสั่งซื้อยาจากแพทย์มาใช้ในทางที่ผิดและส่งเสริมให้ผู้ชมหันมาทำตาม ทั้งนี้ การใช้ยาแก้หวัดชนิดน้ำ หรือไนควิล ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น อาการชัก เวียนศีรษะรุนแรง ตับมีปัญหา ระบบหายใจมีปัญหา และในบางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ของสหรัฐรายงานว่า ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดเอฟดีเอจึงเพิ่งมาประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับชาเลนจ์ดังกล่าวในตอนนี้ เนื่องจากผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียได้เริ่มทำคลิปในชาเลนจ์ต้มไก่กับยาแก้หวัดชนิดน้ำมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ทั้งยังระบุว่า ในคลิปเหล่านี้มีภาพผู้คนกำลังต้มอกไก่และเทยาแก้หวัดชนิดน้ำปริมาณมากลงไปในกระทะ จนทำให้อกไก่กลายเป็นสีเขียวเหมือนสีของตัวยา.-สำนักข่าวไทย

เอฟดีเอสหรัฐแนะฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กต่ำกว่า 5 ปี

วอชิงตัน 16 มิ.ย. – คณะที่ปรึกษาของสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ ลงมติเป็นเอกฉันท์แนะนำให้เอฟดีเออนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของโมเดอร์นาและไฟเซอร์/ไบออนเทคในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า การลงมติแนะนำให้อนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิดของคณะที่ปรึกษาเอฟดีเอถือเป็นย่างก้าวสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดให้แก่เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปีที่ในตอนนี้ยังไม่มีโอกาสได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่นายปีเตอร์ มาร์กส์ เจ้าหน้าที่ของเอฟดีเอ กล่าวต่อคณะที่ปรึกษาของเอฟดีเอในที่ประชุมเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า แม้การระบาดของโรคโควิดในเด็กเล็กมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่สหรัฐพบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากโรคโควิดมากถึง 442 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเด็กที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในช่วงปี 2552-2553 ที่มีเพียง 78 คน เอฟดีเอไม่ควรนิ่งนอนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้ตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ใหญ่ สำนักข่าวรอยเตอร์สคาดว่า เอฟดีเอมีแนวโน้มที่จะอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิดของโมเดอร์นาและไฟเซอร์ในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่รับมือการระบาดของโรคโควิดของทำเนียบขาวสหรัฐ เผยว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังวางแผนเริ่มฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในวันที่ 21 มิถุนายน แต่ยังคงต้องรอให้เอฟดีเอประกาศอนุมัติอย่างเป็นทางการก่อน หากเอฟดีเออนุมัติใช้วัคซีนโควิดในกลุ่มเด็กเล็ก สหรัฐจะฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี […]

ที่ปรึกษาเอฟดีเอสหรัฐไฟเขียวให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์

วอชิงตัน 1 ธ.ค. – คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ปรึกษาของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ มีมติอย่างเฉียดฉิวเห็นชอบให้เอฟดีเออนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ของเมิร์ค แอนด์ โค บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ เพื่อรักษาโรคโควิด-19 ด้วยคะแนนเสียง 13 ต่อ 10 นพ. เดวิด ฮาร์ดี หนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ปรึกษาของเอฟดีเอและลงมติเห็นชอบให้อนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีความจำเป็นต้องพึ่งยาโมลนูพิราเวียร์ หากเอฟดีเออนุมัติใช้ยังดังกล่าว ก็จะถือเป็นครั้งแรกที่มียารักษาโรคโควิด-19 แบบรับประทานให้แก่กลุ่มผู้ป่วยนอกที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง แม้ว่าเขาจะยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในระยะยาวของยาโมลนูพิราเวียร์ก็ตาม ขณะที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนที่ลงมติเห็นชอบระบุว่า ผลการทดลองทางคลินิกที่ชี้ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่ลดลงในกลุ่มอาสาสมัครที่รับยาดังกล่าวทำให้พวกเขาลงมติเห็นชอบให้เอฟดีเออนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ทั้งนี้ หากเอฟดีเออนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ จะทำให้ยาดังกล่าวกลายเป็นยารักษาโรคโควิด-19 แบบรับประทานขนานแรกที่ใช้สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้านได้นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เกือบครบสองปี อย่างไรก็ดี เมิร์ค แอนด์ โค ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ระบุว่า ยาโมลนูพิราเวียร์อาจมีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอัตราลดอาการป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตในกลุ่มคนเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูงที่ร้อยละ 30 ซึ่งลดลงจากเดิมที่มีร้อยละ 50.-สำนักข่าวไทย

...