อังกฤษอนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นชาติแรกของโลก

ลอนดอน 4 พ.ย. – อังกฤษอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นประเทศแรกในโลกเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในอังกฤษ ซึ่งพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงถึงวันละ 40,000 คนในช่วง 7 วันที่ผ่านมา สำนักงานกำกับดูแลการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของอังกฤษ หรือ เอ็มอาร์เอชเอ (MRHA) ประกาศแนะนำให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และผู้ป่วยติดเชื้อที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้เสี่ยงต่ออาการป่วยหนัก เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานในผู้สูงวัย และโรคหัวใจ ทั้งยังระบุโดยอ้างผลการทดลองทางคลินิกว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดต้านเชื้อโควิดแบบรับประทานที่ได้รับการพัฒนาโดยเมิร์ค แอนด์ โค และริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ ในทันทีหลังจากที่มีผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นบวกเป็นเวลา 5 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ขณะที่คณะที่ปรึกษาของสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ มีกำหนดประชุมร่วมกันในวันที่ 30 พฤศจิกายนเพื่อพิจารณาข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ในการตัดสินใจว่าจะอนุมัติใช้ยาดังกล่าวหรือไม่ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า อังกฤษตัดสินใจอนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์อย่างรวดเร็วในขณะที่พบยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา อังกฤษพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงถึงวันละ 40,000 คน รองจากสหรัฐที่พบผู้ป่วยติดเชื้อมากถึงวันละ 74,000 คน ทั้งที่สหรัฐมีประชากรมากกว่าอังกฤษถึง 5 เท่า ขณะนี้อังกฤษมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 9.2 […]

เมิร์คไฟเขียวแจกสูตรยา “โมลนูพิราเวียร์” ให้ประเทศยากจน

วอชิงตัน 29 ต.ค. – เมิร์ค แอนด์ โค บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ เผยเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ได้ลงนามในข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับองค์การจัดการสิทธิบัตรยา (MPP) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เพื่อเปิดทางให้บริษัทยาในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง 105 ประเทศเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ เมิร์คและองค์การจัดการสิทธิบัตรยาระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า บริษัทยาในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง 105 ประเทศสามารถยื่นเรื่องขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตยาโมลนูพิราเวียร์โดยไม่เสียค่าสิทธิบัตรตราบเท่าที่องค์การอนามัยโลกยังคงจัดให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี องค์การแพทย์ไร้พรมแดน หรือเอ็มเอสเอฟ ได้แสดงความผิดหวังเกี่ยวกับการให้สิทธิบัตรยาดังกล่าวอย่างจำกัดของเมิร์ค เนื่องจากไม่นับรวมประชากรอีกเกือบครึ่งหนึ่งของโลกและประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงที่มีกำลังการผลิตยาสูง เช่น บราซิลและจีน ขณะนี้ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ กำลังพิจารณาอนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยที่ผลการทดลองทางคลินิกระบุว่า ยาดังกล่าวช่วยลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ร้อยละ 50 ในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่ได้รับยาตั้งแต่เนิ่น ๆ.-สำนักข่าวไทย

หวั่นประเทศรายได้น้อยเข้าไม่ถึงยาโมลนูพิราเวียร์

วอชิงตัน 18 ต.ค. – กลุ่มสุขภาพระดับนานาชาติเตือนว่า การผลิตยาเม็ดต้านเชื้อโควิด หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘โมลนูพิราเวียร์’ ของเมอร์ค แอนด์ โค บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ อาจตอกย้ำปัญหาความไม่เท่าเทียมซ้ำรอยวัคซีนป้องกันโรคโควิดที่ประเทศยากจนจำเป็นต้องใช้ แต่กลับไม่สามารถเข้าถึง กลุ่มสุขภาพระดับนานาชาติยกตัวอย่างเรื่องการฉีดวัคซีนว่า ประชากรของทวีปแอฟริกาได้ฉีดแล้วเพียงร้อยละ 5 ขณะที่ประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่มีอัตราฉีดสูงกว่าร้อยละ 70 ดังนั้นการที่เมิร์ค แอนด์ โค ให้ใบอนุญาตแก่ผู้ผลิตยาสามัญหลายราย ทั้งที่ยาโมลนูพิราเวียร์ในชื่อทางการค้าของบริษัทยังไม่ได้รับอนุมัติให้วางจำหน่ายนั้น อาจไม่สามารถทำให้กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการปริมาณมากได้ นอกจากนี้การจัดสรรยายังอาจมีอุปสรรคจากข้อบกพร่องและกฎระเบียบขององค์กรระดับโลก เมิร์ค แอนด์ โค ได้ยื่นเอกสารขออนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉินต่อหน่วยงานกำกับดูแลยาของสหรัฐเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เพื่อใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ขนานแรก หลังผลการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ระบุว่า ยาดังกล่าวช่วยลดอัตรารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้ร้อยละ 50 และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติเร็วสุดในเดือนธันวาคม เมิร์ค แอนด์ โค ได้วางแผนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ 10 ล้านคอร์สในปีนี้ และตั้งเป้าผลิตให้ได้ 20 ล้านคอร์สในปี 2565 รวมทั้งได้ให้ใบอนุญาตผลิตยากับบริษัทเวชภัณฑ์ของอินเดีย 8 แห่ง ผลิตยาสามัญที่มีราคาถูกลงให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำและมีรายได้ปานกลาง 109 ประเทศ รวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกา […]

...